รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยน้ำดื่มคนไทยทุกประเภททุกพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ขาดแคลนน้ำปีนี้ เผยผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มในครัวเรือนไทยล่าสุดในปี2556 พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 33 โดยเฉพาะน้ำตู้หยอดเหรียญผ่านเกณฑ์ไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ความสะอาดด้านแบคทีเรีย รองลงมาคือสีขุ่น และกระด้าง องค์การอนามัยโลกเผยขณะนี้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาดปีละ 500,000 คน ส่วนไทยพบป่วยปีละ 1 ล้านกว่าคน
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 22 มีนาคม ทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันน้ำของโลก(World Day for Water ) เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก โดยเฉพาะการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในร่างกายคนมีส่วนประกอบของน้ำประมาณ ร้อยละ 70 หากร่างกายขาดน้ำเพียง 1 วันอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขาดอาหารอาจอยู่ได้นานถึง 5 วัน องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำให้ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละอย่างน้อย 8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบว่าแหล่งน้ำมีคุณภาพความปลอดภัยลดลง ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าประชากรโลกป่วยจากการดื่มน้ำปนเปื้อนอุจจาระ ปีละ ประมาณ 1,800 ล้านคน เช่นโรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น และเสียชีวิตปีละประมาณ 500,000 คน เฉลี่ยนาทีละ 1 คน
ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย สำนักระบาดวิทยารายงานในปี2557 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง โรคบิด ซึ่งมีสาเหตุจากการดื่มน้ำไม่สะอาด ทั่วประเทศ 1 ล้านกว่าคน เสียชีวิต 8 คน ในรอบ 2 เดือนปีนี้ มีรายงานป่วยแล้วเกือบ 2 แสนคน ในการป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้คนไทยทุกกลุ่มวัย บริโภคน้ำสะอาด มีความปลอดภัย ซึ่งจะลดการเจ็บป่วยของประชาชนจากโรคระบบทางเดินอาหารลงได้อย่างเห็นผล โดยเฉพาะในฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเฉพาะน้ำประปา ให้มีระดับคลอรีนตกค้างไม่ต่ำกว่า 0.2 -0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ และควบคุมตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงานผลิตน้ำแข็ง รวมทั้งโรงงานผลิตไอศกรีม ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดื่มน้ำสะอาด และได้มอบหมายให้กรมอนามัยตรวจสอบและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
ทางด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังแหล่งน้ำดื่มในครัวเรือน ล่าสุดในปี 2556 พบว่าประชาชนนิยมดื่มน้ำบรรจุขวดมากที่สุดร้อยละ 32 รองลงมาคือน้ำประปาร้อยละ 24 น้ำฝนร้อยละ17 น้ำจากตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 14และดื่มน้ำจากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้นร้อยละ 7 เท่ากัน ผลการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ทุกแหล่ง ตรวจในปีเดียวกัน รวม 4,423 ตัวอย่าง ในภาพรวมพบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 33 ส่วนใหญ่พบมีการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุโรคอุจจาระร่วง 2 ชนิด คือฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย พบร้อยละ 70 รองลงมาคือตกเกณฑ์ด้านกายภาพ ร้อยละ 35 เช่นสีขุ่น กระด้าง และตกเกณฑ์ด้านเคมีร้อยละ 13 เช่นมีฟลูออไรด์ เหล็ก สูงเกินมาตรฐาน
ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์แยกรายประเภทน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ดื่ม 6 ประเภท ในปี 2556 พบน้ำที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุดได้แก่น้ำประปา ผ่านร้อยละ 68 รองลงมาคือน้ำตู้หยอดเหรียญผ่านร้อยละ 49 น้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 20 ลิตร ผ่านร้อยละ 22 น้ำบ่อบาดาล และน้ำฝนผ่านร้อยละ 21 เท่ากัน ต่ำสุดคือน้ำบ่อน้ำตื้นผ่านเกณฑ์ร้อยละ 9 ส่วนใหญ่ตกเกณฑ์ด้านสี ความขุ่น ในปีนี้กรมอนามัยได้จัดทำระบบการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มได้แก่น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำบ่อน้ำตื้น นำบรรจุขวด น้ำตู้หยอดเหรียญ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชน ช้บริโภค เช่นน้ำฝน ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่เขตเมือง ชนบท พื้นที่ทุรกันดาร 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ดื่มน้ำสะอาดปลอดภัย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังระบบประปาที่ผ่านการรับรองคุณภาพว่าเป็นประปาดื่มได้ รวมทั้งหมด 1,861 แห่ง จากทั้งหมดที่มี 52,194 แห่ง
สำหรับน้ำฝน ซึ่งปัจจุบันประชาชนนิยมใช้น้อยมาก จะส่งเสริมให้ประชาชนกักเก็บไว้ใช้นอกฤดูกาลมากขึ้น และเป็นน้ำที่ใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ จะประเมินคุณภาพ โดยศึกษาในพื้นที่การจราจรหนาแน่น พื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่อาศัย และวิเคราะห์หาแหล่งที่มาการปนเปื้อน เช่นจากหลังคา และภาชนะรองรับน้ำ เพื่อการแก้ไขที่ตรงจุด
ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า สำหรับน้ำตู้หยอดเหรียญ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำบรรจุขวดประมาณ 10 เท่าตัว ในกทม.มีประมาณ 20,000 ตู้ แต่มีการแจ้งขึ้นทะเบียนเพียงร้อยละ 15 ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีระบบควบคุมกำกับกิจการประเภทนี้ชัดเจน กรมอนามัยจะพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปลอดภัย โดยดำเนินการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำแพงเพชรและพิจิตร จังหวัดละ 1 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินเพิ่มการเฝ้าระวัง การปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนักในน้ำดื่ม ในพื้นที่เสี่ยง เช่นพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ พื้นที่บริเวณที่ทิ้งขยะที่ทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม ดำเนินการใน5 จังหวัด น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย ลำปาง เพื่อลดโอกาสการรับสารพิษ สารเคมีหรือโลหะหนัก เช่นตะกั่ว สารหนู ฟลูออไรด์ เป็นต้น รวมทั้งจะเร่งเผยแพร่ ความรู้เสริมสร้างให้กับประชาชน อนุรักษ์แหล่งน้ำบริโภค ฉลาดในการเลือกซื้อน้ำ และรู้จักวิธีการปรับปรุงและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเอง
*****************************22 มีนาคม 2558