“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผย ปิดเทอมฤดูร้อน 3 เดือน มีนาคม-พฤษภาคม ในรอบ 10 ปี เด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ย 402 คน เตือนผู้ปกครองระวัง จุดพบบ่อย คือ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งถังน้ำ กะละมัง อ่างอาบน้ำในบ้าน ย้ำผู้ปกครองอย่ามองเป็นเคราะห์กรรม ต้องช่วยกันป้องกัน อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งจมน้ำง่าย แม้มีน้ำขังเพียงเล็กน้อย
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงอากาศร้อน เด็กๆมักไปเล่นน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,200 คน หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 4 คน ช่วงที่มีรายงานสูงสุดคือช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ในรอบ 10 ปีนี้พบเฉลี่ยปีละ 402 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สูงสุดในเดือนเมษายน 148 คน รองลงมาคือมีนาคม 129 คน และพฤษภาคม 125 คน เกิดในแหล่งน้ำธรรมชาติสูงเป็นอันดับ 1 คือคลอง หนองบึง ร้อยละ 49 สระว่ายน้ำร้อยละ 7 อ่างอาบน้ำร้อยละ 5 มักเกิดช่วงเที่ยงวันถึงเย็น เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า ที่ผ่านมาประชาชนไทยร้อยละ 42 มองการจมน้ำเสียชีวิตเป็นเคราะห์กรรม ทั้งที่เป็นเรื่องป้องกันได้ จึงขอให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือที่คุ้นเคย
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังแม้เสี้ยวนาที ให้อยู่ในจุดที่มองเห็นและคว้าถึง เนื่องจากเด็กวัยนี้จมน้ำง่าย แม้แต่ในถังหรือกะละมังที่มีน้ำขังเพียง 1-2 นิ้ว เพราะการทรงตัวของเด็กยังไม่ดีจึงจมน้ำง่าย มอบหมายให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศเร่งขยายเครือข่ายผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ เน้นการทำงานแบบสหสาขา ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนผู้ปกครอง และสนับสนุนให้ชุมชนสำรวจและจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง โดยสร้างรั้ว ติดป้าย ติดอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาง่ายเช่น แกลลอนพลาสติกเปล่า เชือก ไม้ รวมทั้งเตรียมทีมแพทย์ช่วยเหลือ หากพบเห็นผู้จมน้ำสามารถโทร.ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง ทั้งนี้ผู้ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ขอให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมควบคุมโรคล่าสุดปี 2556 พบเด็กไทยอายุ 5-14 ปีซึ่งมีกว่า 8 ล้านคนว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 24 หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดและมีทักษะช่วยคนจมน้ำได้เพียงร้อยละ 4 หรือ 367,704 คน สาเหตุที่ผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วงคือ ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม เมื่อเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยโดยไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง อีกช่วงคือหลังนำคนจมน้ำขึ้นพ้นน้ำ โดยอุ้มคนจมน้ำพาดบ่าและกระแทกเอาน้ำออก หรือจับเด็กห้อยหัวแล้วเขย่าเอาน้ำออก ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้องคือ รีบแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพ 1669 แล้วจับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบแข็งและแห้ง รีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าผู้จมน้ำเริ่มหายใจได้ ให้จับนอนตะแคง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก แล้วใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อความอบอุ่น งดน้ำและอาหารและรีบส่งผู้จมน้ำทุกรายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ประการสำคัญ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วยแม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ ตะโกน โยน ยื่น โดย 1.ตะโกนเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัว เพื่อให้คนตกน้ำเกาะจับ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุลอยน้ำได้ โดนโยนไปหลายๆ ชิ้น และ3.ยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับ แล้วดึงขึ้นจากน้ำ
*********************** 29 มีนาŦ