“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขจับมือ 4 สถาบันการศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุข เปิดหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ ให้มีทักษะบริหารจัดการงานสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย เพื่อลดโรค ลดป่วย เริ่มกรกฎาคม 2558 นี้
วันนี้(3 เมษายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กับ 4 สถาบันการศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพิ่มการผลิตแพทย์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ มุ่งลดจำนวนผู้เจ็บป่วย แพทย์เฉพาะทางที่มีในขณะนี้ล้วนเป็นสาขาการรักษา รวม 29,150 คน จากแพทย์ทั้งหมด 48,116 คน ระบบสุขภาพที่ผ่านมามีความก้าวหน้าที่สุดด้านการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ประเทศไทยจึงใช้งบประมาณจำนวนมากในการรักษา เฉพาะโรควิถีชีวิต เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ปีละ 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้น จึงต้องเร่งป้องกันเพราะ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ได้มอบหมายให้กรมอนามัย จัดทำหลักสูตรอบรมหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ และได้รับอนุมัติจากแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นับเป็นครั้งแรกในประเทศ จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในเดือน กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป
ในเบื้องต้น ได้รับความร่วมมือการผลิตจากสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.รามาธิบดี ศิริราชพยาบาล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีแรกมีแพทย์เข้าศึกษา 4 คน คาดว่าจะได้รับความสนใจจากแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาเรียน 3 ปี แพทย์เฉพาะทางสาขานี้ จะมีความเชี่ยวชาญและทักษะชั้นสูง ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชน โดยนำข้อมูลผลการศึกษาวิจัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ ปีที่ 1 เรียนภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขตามกลุ่มวัย เช่น แม่และเด็ก วัยเรียนและเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ปีที่ 2 เป็นการศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรอง หรือ สถาบันการศึกษาอื่นทั้งในและต่างประเทศ และ ปีที่ 3 เป็นการทำวิจัยปฏิบัติการเกี่ยวกับงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มวัยต่างๆ โดยฝึกปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจะได้รับวุฒิบัตร เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เน้นหนัก 4 เรื่อง คือ 1.การสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการแพทย์และสาธารณสุข 2.การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนร่วมกัน 3.การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน และการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ และ 4.การพัฒนาและจัดหาสื่อการเรียนการสอน การใช้ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน อาทิ ห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์ วารสารอิเลคทรอนิกส์
************************* 3 เมษายน 2558