“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ชี้ภัยสภาพอากาศร้อนจัด เสี่ยงป่วยโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดได้ง่าย อันตรายถึงชีวิต สถิติปี 2546-2556 มีรายงานเสียชีวิต 196 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เฉพาะปี 2556 มี 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย ย้ำเตือน 6 กลุ่มอาทิคนอ้วน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้ระวัง โดยเฉพาะคอทองแดง ควรละซดเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจช็อคได้ แนะวิธีป้องกันควรดื่มน้ำมากๆ ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติเช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด ให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษา 1669
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในช่วงนี้ สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนบางกลุ่มอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ ที่น่าห่วงและมีอันตรายสูงคือฮีทสโตรก (Heat stroke)หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัดซึ่งบางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ มีประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอนโดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ร่างกายจะสามารถเก็บความร้อนได้ดี และระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย
และ6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อค และเสียชีวิตได้ กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการดูแลและป้องกันโรคลมแดด
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สภาพอากาศร้อนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับน้อยสุดจนถึงขั้นรุนแรงสุด คือ 1.ทำให้ผิวหนังไหม้(Sun burn)2.ตะคริว(Heat cramp)เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3.อาการเพลียแดด (Heat exhaustion)เนื่องจากสูญเสียเหงื่อมาก เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง จะมีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ4.เป็นลมแดด (Heat Stroke)เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ตัวจะร้อนจัด สมองไม่สามารถควบคุม การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ จะมีอาการสำคัญที่ต่างจากอาการเป็นลมแดดทั่วๆไปคือ ตัวร้อนจัด ผิวหนังจะแห้ง ไม่มีเหงื่อออก มีอาการผิดปกติระบบประสาท เช่นเดินเซ กระสับกระส่าย หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อคหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานในช่วงปี 2546-2556 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 196 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุมากที่สุดพบร้อยละ 16 รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้ที่มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา โดยเฉพาะปี 2556 มีผู้เสียชีวิตในเดือนมีนาคม-เมษายน จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า การป้องกันอันตรายจากโรคลมแดด ในช่วงที่มีอากาศร้อน แนะนำให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี เช่นผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หากเป็นไปได้ควรอยู่ภายในบ้าน เช่นใต้ถุนบ้าน หรืออยู่ใต้ร่มไม้ ลดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติจากวันละ 1-2 ลิตร เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1 ลิตร เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก น้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
“อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถ จะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง”นายแพทย์สุพรรณกล่าว
************ 6 เมษายน 2558