“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 137 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลบนเส้นทางหลวงและเขตปริมณฑล พร้อมรับมืออุบัติเหตุขากลับฉลองสงกรานต์อย่างเต็มที่ เผยผลการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพตลอด 6 วันที่ผ่านมา มีประชาชนโทรขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 รวม 7,455 ครั้ง ส่วนผลการตรวจการขายเหล้ารอบ 13 วันระหว่างเทศกาลสงกรานต์ใน 40 จังหวัดรวม กทม. ดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว 535 ราย และพบพื้นที่โซนนิ่ง ย่านถนนข้าวสาร กทม. ฝ่าฝืนขายเหล้าอยู่จำนวนมาก
วันนี้ (15 เมษายน 2558) ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์รอบ 6 วัน มีประชาชนโทรขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินทางสายด่วน 1669 รวม 7,455 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 52 ครั้ง โรงพยาบาลสามารถดูแลผู้บาดเจ็บได้เป็นอย่างดี มีการส่งต่อผู้บาดเจ็บสาหัสอย่างคล่องตัว ไม่มีปัญหาขาดแคลนโลหิตในการผ่าตัด วันนี้ได้กำชับให้โรงพยาบาลในเขตปริมณฑลและโรงพยาบาลบนเส้นทางหลวง เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับเข้าเต็มที่ แนะนำผู้ขับขี่หากเกิดอาการง่วงเพลีย ขอให้แวะพักที่จุดบริการประชาชน หรือจุดที่ปลอดภัย อย่าฝืนขับหรือคิดว่าอีกนิดเดียวก็ถึง เพราะหากหลับในจะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงก่อนและระหว่างเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 2 เมษายน 2558 เป็นต้นมา รวม 13 วัน ใน 40จังหวัดรวม กทม. ทั้งหมด 1,776 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 535 ราย สำหรับความผิดที่พบมากอันดับ 1 คือ การโฆษณาสื่อสารการตลาด เพื่อส่งเสริมการขาย 193 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,00 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา ความผิดที่พบอันดับรองลงมาได้แก่ ดื่มในสถานที่ต้องห้ามซึ่งส่วนใหญ่ดื่มบนถนน 124 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เหลือเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาต้องห้าม 78 ราย ขายแบบลดแลกแจกแถม 73 ราย ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 59 รายและขายในสถานที่ห้ามขาย เช่นในปั๊มน้ำมัน 37 ราย
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และตำรวจ พบว่า ประชาชนยังมีการดื่มเหล้าบนรถ รวมทั้งมีการจำหน่าย และดื่มสุราเป็นจำนวนมากในพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยเฉพาะพื้นที่โซนนิ่ง เช่นย่านถนนข้าวสาร กทม.ฝ่ามีการขายเหล้าอยู่จำนวนมาก ส่วนที่ย่านสีลมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกทม. เข้มงวดดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการตรวจต่อเนื่องในช่วงหลังสงกรานต์อีก 7 วัน เพื่อตรวจสอบในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ช้ากว่าจังหวัดอื่น เช่นงานวันไหลในจังหวัดโซนภาคตะวันออก งานสงกรานต์ที่พระประแดง เป็นต้น
ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุและความสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดมาจากการเมาสุราสูงเป็นอันดับ 1 ประมาณ 1 ใน 3 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด โดยพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 1 ใน 4 รองจากกลุ่มวัยแรงงาน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังตลอดปี
****************************** 15 เมษายน 2558