รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่ทองคำที่ จ.เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งเร่งวางมาตรการป้องกันระยะยาว ให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค เร่งวางยุทธศาสตร์ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฮอตโซน 30 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยที่สุด
วันนี้ (29 เมษายน 2558) ที่โรงพยาบาลวังสะพุง จ.เลย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ติดตามสภาพปัญหาสุขภาพประชาชนที่ อ.เมือง และอ.วังสะพุง ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ 6 หมู่บ้าน 780 หลังคาเรือน ประชาชน 3,315 คน และให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมเหมืองแร่ทองคำที่จ.เลยในวันนี้ เพื่อวางระบบการป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ ที่ผ่านมา อาจจะยังไม่มีการดูแลอย่างเป็นระบบ ขาดข้อมูลสุขภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจังหวัดเลยในปี 2552 ตรวจพบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานในน้ำบาดาลที่ใช้ผลิตน้ำประปา จำนวน 3 บ่อ ขณะนี้ได้ปิดบ่อไปแล้ว ในน้ำผิวดิน ในหอยขมและปู ในลำน้ำห้วยเหล็กพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ส่วนในลำน้ำห้วยผุกพบแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ประกาศให้ประชาชนงดบริโภคหอยขมและปูจากแหล่งน้ำดังกล่าว พร้อมติดตามสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยและผู้ที่มีโลหะหนักในเลือด ในปัสสาวะอย่างต่อเนื่องทุกคน รวมทั้งค้นหาที่มาของโลหะหนักจากสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน สัตว์ที่อาศัย พืชหัว/เหง้าด้วย โดยในปี 2556 พบผู้ป่วยจากพิษสารหนู 21 ราย หากได้รับสารหนูอย่างต่อเนื่อง 10-25 ปี จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนผลการตรวจปัสสาวะประชาชนรอบเหมืองล่าสุดในปี 2557 พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 40.9 และยังพบสารหนูในปูที่อยู่ปลายน้ำในลำห้วยเหล็กเกินค่ามาตรฐาน 3.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปกติต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่เป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือสุขภาพประชาชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ หากพบว่าใครเจ็บป่วยจะต้องรีบดูแล แบ่งการดูแลประชาชนเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีอาการโรคชัดเจน กลุ่มที่มีโลหะหนักในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน และกลุ่มที่มีความกังวล โดยจะให้การดูแลทั้งกายและจิตใจ พร้อมทำระบบเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้า ทั้งในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดปัญหาด้วย ในกรณีของเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งขณะนี้มีที่จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย ในเบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ประกอบด้วยคณะวิชาการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือแร่อื่นๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบการเฝ้าระวังสุขภาพเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม คณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข มีสาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพเป็นประธาน และชุดด้านการดูแลรักษาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือแร่อื่น มีผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ มีผู้ตรวจราชการประจำเขตสุขภาพเป็นประธาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความเป็นกลางที่สุดและประชาชนมีความปลอดภัยที่สุด
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับมาตรการระยะยาว ได้ให้กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค จัดทำแผนยุทธศาสตร์ออกแบบระบบเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับมลพิษจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และปิโตรเคมี รวมทั้งจากมลพิษทางอากาศ และเขตพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ หรือเรียกว่า ฮอตโซน (HOT ZONE) ซึ่งมีประมาณ 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีระบบการเฝ้าระวังความผิดปกติในคน สิ่งแวดล้อม น้ำ อากาศ ดิน อาหาร อย่างชัดเจน และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน รู้ทันปัญหา เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และนำมากำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม มีระบบป้องกันที่รอบคอบและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา โดยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นแกนหลักสำคัญเชื่อมโยงกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในรูปของสมัชชาแห่งชาติ เป็นมติและเป็นธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องยึดเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขทำงานดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเต็มกลไก มิได้เป็นการก้าวก่ายหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
********************************* 29 เมษายน 2558
View 13
29/04/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ