กระทรวงสาธารณสุข วางระบบดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบกิจการเหมืองทองคำ ครอบคลุม 3 อำเภอ ในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตั้งคลินิกอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อตรวจรักษา ติดตาม และป้องกันโรคจากพิษโลหะหนัก ส่งทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้าน พร้อมเปิดสูตรอาหารพื้นบ้านและสมุนไพรขับพิษโลหะหนัก
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2558) นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขผู้ที่มีโลหะหนักในร่างกายในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ซึ่งมีการประกอบกิจการเหมืองทองคำ โดยตรวจเยี่ยมการจัดระบบบริการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดงหลง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งยาว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก รวมทั้งได้นำทีมหมอครอบครัว ออกเยี่ยมบ้านประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพด้วย
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบป้องกันแก้ไขผลกระทบสุขภาพประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำที่ได้รับโลหะหนัก ในอ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการด้านการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำ มีนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจราชการประจำเขตสุขภาพที่ 3 เป็นประธาน และคณะกรรมการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมภัยและผลกระทบ มีนายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ ประจำเขตสุขภาพที่ 2 เป็นประธาน
ผลการตรวจสุขภาพประชาชนครั้งล่าสุด วันที่ 1-12 มีนาคม 2558 พบค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน แต่ยังไม่ป่วยรวม 306 คน โดยพบแมงกานีสในเลือดระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานคือ 5 ไมโครกรัมขึ้นไป รวม 269 คน จากที่ตรวจทั้งหมด 502 คน และพบสารหนูในปัสสาวะจำนวน 37 คนจากที่ตรวจทั้งหมด 273 คน ผลการสอบสวนโรคในเบื้องต้นพบว่า น้ำอุปโภคบริโภคมีความสัมพันธ์กับแมงกานีสในเลือด และฝุ่นละอองจากกองหินใหม่ที่เขาลูกใหม่ในเหมืองทองคำ มีความสัมพันธ์กับอาการผื่นคัน คณะกรรมการเฝ้าระวังผลกระทบ จึงมีมติให้ดำเนินการแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชน รัฐ และผู้ประกอบการเหมืองแร่ เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย
สำหรับการแก้ไขปัญหาในด้านสุขภาพ ได้ให้ทั้ง 3 จังหวัด ตั้งคลินิกอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโรคจากการประกอบอาชีพและสารเคมีเป็นการเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และรพ.สต.ดงหลง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ รพ.สต.ทุ่งยาว ต.วังโพรง จ.พิษณุโลก และรพ.สต.เขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร ให้การดูแลตามมาตรฐาน และส่งทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้านผู้ที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายเกินมาตรฐาน
ส่วนมาตรการเฝ้าระวัง จะมีการร่วมกันศึกษาผลกระทบสุขภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ตรวจคุณภาพแหล่งน้ำทุกประเภทในพื้นที่ แหล่งอาหารบริโภคในรูปของคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือแกนนำภาคประชาชน ภาครัฐ และผู้ประกอบการ ขณะนี้ได้จัดอบรม อสม.ทั้ง 3 จังหวัดเป็น อสม.เชี่ยวชาญด้านสารพิษเคมี จำนวน 400 คน เพื่อช่วยระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และจัดระบบการเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ในรัศมี 5 กิโลเมตรและ 10 กิโลเมตร การเฝ้าระวังการปนเปื้อนในพืชอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่และใช้เป็นค่าพื้นฐานในเชิงมาตรฐานทางวิชาการ ผลการตรวจคุณภาพน้ำประปา บ่อน้ำตื้น น้ำบาดาล น้ำดื่มบรรจุเสร็จ น้ำฝน 105 แห่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2558 พบตกมาตร