กระทรวงสาธารณสุข เผย 69 ปี ของสถาบันพระบรมราชชนก ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้บริการประชาชนในโรงพยาบาล หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว กว่า 175,000 คน เร่งผลิตบุคคลกรด้านสุขภาพรุ่นใหม่ เชี่ยวชาญ อย่างมืออาชีพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่ มีจิตบริการ ให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วม เป็นผู้นำด้านบริการวิชาการสุขภาพต่อชุมชน
วันนี้ (28 พฤษภาคม 2558) ที่โรงแรมเซ็นทรา แจ้งวัฒนะ กทม. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสถาบันพระบรมราชชนก ประจำปี 2558 : 69 ปี ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้เชิงวิชาการสุขภาพ โดยมีผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยในสังกัดฯ ร่วมประชุมประมาณ 800 คน พร้อมมอบโล่รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จำนวน 37 คน และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ รวมทั้งมีนโยบายที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการและคุณภาพบริการ โดยสถาบันพระบรมราชชนก เป็นองค์กรหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข โดยผลิตบุคลากรประมาณร้อยละ 35 ของการผลิตทั้งประเทศ
นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทําแผนกําลังคนด้านสุขภาพมีคณะทำงานด้านบริหารจัดการด้านพัฒนาและด้านค่าใช้จ่ายกำลังคน เพื่อให้บุคลากรทุกคนปฏิบัติงานบนฐานความรู้ มีแผนผลิต และจัดสรรกําลังคนให้เหมาะสมกับสถานบริการทุกระดับ ปรับปรุงค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับภาระงาน เพื่อลดปัญหาการไหลออกจากระบบ ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดการทํางานซํ้าซ้อน เป็นต้น โดยในสาขาพยาบาลคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการศึกษาสาขาวิชาพยาบาล ปีการศึกษา 2557-2560 ให้ผลิตพยาบาล 27,960 คน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลและรองรับการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและการเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ด้านนายแพทย์อภิชาติ รอดสม ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า สถาบันพระบรมราชชนก มีวิทยาลัยในสังกัด 40 แห่ง ประกอบด้วยวิทยาลัยพยาบาล 30 แห่ง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร 7 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุขกาญจนาภิเษกวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร และวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุขอย่างละ 1 แห่ง เปิดสอน 9 หลักสูตร ระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการทันตสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุขสาขาเวชระเบียน เทคนิคเภสัชกรรม แพทย์แผนไทย เวชกิจฉุกเฉิน เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ และเจ้าพนักงานเวชสถิติ โดยฝึกภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาลในสังกัดฯ และกลับไปทำงานในพื้นที่ ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 175,000คน
ทั้งนี้ สถาบันพระบรมราชชนก ได้เร่งพัฒนาหน่วยงาน วิทยาลัย บุคลากรในสังกัด ให้มีขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาบุคลากร โดยให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ มีจิตสำนึกในการเรียนรู้ สามารถดูแลผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทร เป็นผู้ครองตน ครองคน และครองงาน ตอบสนองอัตลักษณ์บัณฑิตของสถาบันฯ คือ มีจิตบริการ มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ และปฏิบัติงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังต้องสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยในสังกัดด้านบริการวิชาการสุขภาพ เน้นพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างองค์ความรู้ด้านวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชน
******************* 27 พฤษภาคม 2558