“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข หนุนคนไทยทุกวัยดื่มนมจืดมากขึ้น ชี้มีสารอาหาร วิตามินสูง สร้างความแข็งกระดูกและฟัน เผยสถิติเด็กไทยดื่มน้อยกว่าเอเชียและโลก 4-7 เท่าตัว เฉลี่ยเพียงคนละไม่ถึงวันละ 50 ซี.ซี ทำให้ค่าเฉลี่ยความสูงวัยรุ่นไทยค่อนข้างเตี้ย หนุนให้เด็กดื่มมากขึ้นให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 แก้ว หรือเฉลี่ยปีละ 88 ลิตร เสริมออกกำลังกาย กินอาหาร 5 หมู่ จะช่วยเพิ่มความสมาร์ท คือ สูงสมส่วน ไม่อ้วน แข็งแรง ฟันไม่ผุ คาดอีก10 ปีวัยรุ่นไทยจะสูงเฉลี่ย 171 ซม.
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 มิถุนายนทุกปี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day)เพื่อให้ประเทศต่างๆรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจประชาชน ในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการของนมเหมาะสมกับทุกวัย มีโปรตีนคุณภาพดี วิตามิน และแคลเซียม โดยดื่มนมอย่างเหมาะสม จะมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า นอกจากกระทรวงสาธารณสุข จะมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 50 ของหญิงหลังคลอดบุตร เพื่อพัฒนาไอคิวหรือความเฉลียวฉลาดทางปัญญาและอีคิวของเด็กไทยแล้ว ยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยดื่มนมจืด เพื่อสร้างความแข็งแรงกระดูกและฟัน เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยสูงอายุ โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ รสจืด จัดเป็นนมที่มีคุณค่าโภชนาการสูง เนื่องจากมีโปรตีนคุณภาพดี มีแคลเซียมปริมาณมากช่วยสร้างกระดูก มีผลต่อการพัฒนาความสูง เพื่อให้เด็กไทยเติบโต มีส่วนสูงในระดับดี รูปร่างสมส่วน ซึ่งต้องปรับพฤติกรรมให้สมดุลทั้งการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่
ผลสำรวจล่าสุดในปี 2556 พบว่าเด็กไทยดื่มนมน้อยมากเฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี เฉลี่ยวันละไม่ถึง 50 ซี.ซี. ต่ำกว่าเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 4-7 เท่าตัว โดยเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดื่มเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี เด็กทั่วโลกดื่มเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ส่งผลให้ส่วนสูงเด็กไทยเมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร(ซม.) ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 ซม. กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มความสูงเด็กไทยอายุ 18 ปี ให้ได้มาตรฐานสูงสมส่วน ไม่อ้วน ภายในปี 2568 เด็กไทยจะสูงเฉลี่ย 171 ซม. ผู้ชายสูงเฉลี่ย 177 ซม. ผู้หญิงเฉลี่ย 165 ซม. และคนไทยมีอายุยืนเฉลี่ย 80 ปี เน้นหนัก 3 เรื่องคือรณรงค์ให้เด็กไทยดื่มนมจืดอย่างน้อยวันละ 1 แก้วประมาณ 240 ซี.ซี. รวมปีละ 88 ลิตรต่อคน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล โหนบาร์ วอลเล่ย์บอล ซึ่งมีผลการศึกษาช่วยเพิ่มความสูงได้มากขึ้น และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ศึกษาคุณค่าอาหารของนมโคสดซึ่งเป็นนมจืดกับนมปรุงแต่งรสหวาน นมเปรี้ยว ในปริมาณ 100 มิลลิลิตรเท่ากัน พบว่า นมโคสดแท้มีสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่านมปรุงแต่ง โดยมีแคลเซียม 135 มิลลิลิตร โปรตีน 3.3 กรัม วิตามินเอ 71 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม ในขณะที่นมปรุงแต่งรสหวานมีแคลเซียม ลดลงเหลือ 101 มิลลิกรัม โปรตีน 2.3 กรัม วิตามินเอ 38 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.14 มิลลิกรัม ดังนั้นนมโคสดจืดจึงมีคุณสมบัติดีที่สุดที่ให้ผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้การดื่มนมจืด จะช่วยลดพฤติกรรมติดหวาน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และลดการเกิดฟันผุด้วย โดยมีผลงานวิจัยยืนยันว่านมธรรมชาติเป็นอาหารที่ส่งเสริมความแข็งแรงของฟัน หากมีการเติมน้ำตาลเพิ่มลงไปในนม จะทำให้เสียงเกิดโรคฟันผุทันที และหากแปรงฟันไม่สะอาดหลังดื่ม จะยิ่งเสี่ยงเกิดฟันผู้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มความสูงของเด็กให้สมวัย มีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1 จึงขอให้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยนี้ ทั้งเรื่องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ และดื่มนมจืดทุกวัน โดยวัยเด็ก คือวัยก่อนวัยเรียนอายุ 3-5 ขวบและ วัยเรียนอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้ดื่มนมจืดวันละ 2-3 แก้ว เพื่อการเจริญเติบโต ส่วนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่ต้องการสารอาหาร เพื่อใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แนะนำให้ดื่มนมจืดวันละ 1 แก้ว และหากเป็นผู้มีปัญหาไขมันในเลือดสูงแนะนำให้ดื่มนมเป็นชนิดพร่องมันเนย หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ให้ดื่มวันละ 2 แก้ว แคลเซียมที่อยู่ในนมจะช่วยบำรุงกระดูกมารดาและสร้างกระดูกทารกในครรภ์
************************** มิถุนายน 2558