รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลงานการจัดบริการเขตสุขภาพ พบประชาชนได้รับประโยชน์ตรง ดีขึ้นเรื่อยๆ  ขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ร้อยละ 53   มีหมอผ่าตัดประจำโรงพยาบาลจังหวัดทุกเขต    และศูนย์รักษาแผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก   ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับเคมีบำบัดระยะสั้นที่ โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่   ยอดผ่าตัดตาต้อกระจกได้ปีละ  120,000 ข้าง  มีศูนย์รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง    ส่วนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์สาธารณสุขชุมชน มีทันตบุคลากรประจำ 3,528 แห่ง     

                    นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดบริการแบบเขตสุขภาพ เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่พื้นที่ ว่า ระบบนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวในการวางแผนจัดบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละเขตสุขภาพ  โดยมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ควบคู่กันไป  ในระยะแรกได้กำหนดแผนการพัฒนาใน 10 สาขาหลัก ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ อาทิ หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ มะเร็ง  จักษุหรือโรคทางตา  ไต  ปฐมภูมิ โรคไม่ติดต่อ เป็นต้น เพื่อพัฒนายกระดับบริการให้ครอบคลุมปัญหาสุขภาพในพื้นที่ยิ่งขึ้น

                      นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานเขตสุขภาพที่ผ่านมา  มีการพัฒนาระบบบริการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก  โดยในปี 2557 โรงพยาบาลชุมชนได้รับการพัฒนาสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ร้อยละ 53 ทุกเขตสุขภาพมีศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัดในโรงพยาบาลจังหวัด  มีศูนย์รักษาบาดแผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งเป็นห้องปลอดเชื้อ   มีเตียงไอซียูเด็กรองรับทารกแรกเกิดที่มีปัญหา หรืออยู่ในภาวะวิกฤติพอเพียง ในอัตราส่วน 1 เตียงต่อการเกิด 500 คน  

                  โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 14 แห่งจาก 35 แห่ง สามารถให้เคมีบำบัดแบบระยะสั้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งได้  ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้าน สะดวกขึ้น    มีศูนย์รักษาโรคตาเขตสุขภาพทุกเขต  ผ่าตัดตาต้อกระจกได้ปีละ 120,000 ข้าง โรงพยาบาลชุมชนผ่าตัดไส้ติ่งและผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องได้ 108 แห่งจาก126 แห่ง  โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีศูนย์รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง  37 แห่งจาก 81 แห่ง  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ศูนย์สาธารณสุขชุมชน มีทันตบุคลากร 3,528 แห่ง มีหอผู้ป่วยและเตียงฉุกเฉินรองรับผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกเขตสุขภาพ  อำเภอมีระบบสุขภาพทีมีคุณภาพแล้ว 428 แห่ง

                      นายแพทย์วชิระ กล่าวอีกว่า การจัดบริการแบบเขตสุขภาพ ได้รับการยอมรับทั้งจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งหน่วยงานในประเทศ เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาล ข้อที่ 5.2 ที่ให้มีการสร้างกลไกการจัดการสุขภาพในรับเขตแทนการกระจุกตัวในส่วนกลาง  หรือฉันทามติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ที่ให้มีการวางแผนระบบบริการสุขภาพ คำนึงถึงขนาดประชากรที่เหมาะสม  จัดบริการแบบเบ็ดเสร็จในตัวเอง  บริหารจัดการร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกันอย่างไร้รอยต่อ และมีระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมในเครือข่าย นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาติดตามการทำงานเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ในปี 2557 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเดินมาถูกทาง เนื่องจากการทำงานในรูปแบบพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี เพราะคนในพื้นที่จะเข้าใจในระบบมากกว่าส่วนกลาง การใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งเครื่องมือแพทย์ ห้องผ่าตัด แพทย์ เป็นหลักบริหารจัดการที่ดี        

******************************* 7 มิถุนายน 2558



   
   


View 14    07/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ