รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อุบลราชธานี บูรณาการทำงานร่วมกับท้องถิ่น รวมศูนย์รับแจ้งเหตุทุกประเภทไว้ในหมายเลขเดียว 1669 แห่งแรกของประเทศ มีทีมกู้ชีพ-รถกู้ชีพครอบคลุมถึงระดับตำบล ปี 2557 ออกให้บริการกู้ชีพเฉลี่ยวันละ 200 ครั้ง พร้อมตั้งชุดปฏิบัติการรับมือสาธารณภัยชุดเล็กทุกอำเภอ

 

     วันนี้ (12มิถุนายน2558) ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ติดตามการพัฒนางานสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 10 และเยี่ยมชมการดำเนินงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินโครงการ “กู้ชีพเฉลิมราชย์ 60  ปี จ.อุบลราชธานี” และให้สัมภาษณ์ว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งจากโรคและอุบัติเหตุ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยพบผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 4 ล้านคนต่อปี  กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้ง 3 ด้านได้แก่ 1.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล มีทีมแพทย์กู้ชีพออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยยังที่เกิดเหตุหรือที่บ้าน แจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 เพื่อช่วยเหลือและนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ขณะนี้ ทั่วประเทศมีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 12,000 ชุด 2.การพัฒนาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลให้มีคุณภาพ มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และ3.พัฒนาทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติหรือทีมเมิร์ท ขณะนี้มีแล้ว 45 ทีม จะเพิ่มให้ครบทุกจังหวัดในปี 2559

 

     สำหรับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จ.อุบลราชธานี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (อบจ.) รวมศูนย์รับแจ้งเหตุทุกประเภท ทั้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ อุบัติภัยและภัยพิบัติ บูรณาการทำงานทุกหน่วยราชการภายใต้ระบบสั่งการเดียวกันเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยภารกิจศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการให้อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.อุบลราชธานี ส่วนสสจ.อุบลราชธานีทำหน้าที่พัฒนาระบบและควบคุม กำกับ มาตรฐานการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อประชาชนต้องการแจ้งเหตุ สามารถติดต่อผ่าน 1669 หมายเลขเดียว มีโทรศัพท์ระบบใยแก้วนำแสงที่ทันสมัย 50 คู่สาย วิทยุสื่อสาร 5 ระบบ  มีหน่วยบริการรถกู้ชีพที่มีระบบดาวเทียมนำทาง 222  คัน มีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิและหน่วยงานอื่น 211 ชุด กระจายอยู่ครบทุกตำบล รับผิดชอบชีวิตประชาชนกว่า 1.8 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2557 มีผู้ใช้บริการ 73,000 กว่าครั้ง เฉลี่ยวันละ 200 ครั้งในรอบ 7 เดือนของปีงบประมาณ 2558 มีผู้ใช้บริการ 49,363 ครั้ง โดยเป็นการเจ็บป่วยทั่วไปร้อยละ 72 อุบัติเหตุจราจรร้อยละ 17 อุบัติเหตุอื่นๆ ร้อยละ 11 ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นการปฏิบัติการกู้ชีพขั้นต้น

 

    นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาสาธารณภัย โดยตั้งทีมมินิเมิร์ทที่เป็นสหวิชาชีพทุกอำเภอ พัฒนาศักยภาพบุคลากร ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เผชิญสถานการณ์ เช่น อัคคีภัยในอาคารสูง อุบัติเหตุหมู่ อุบัติเหตุทางน้ำ และเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณภัยระหว่างหน่วยงาน ทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ มูลนิธิและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเตรียมความพร้อมพาหนะวัสดุอุปกรณ์ เช่น เรือ-รถกู้ชีพ เวชภัณฑ์ฉุกเฉิน เสื้อชูชีพ รองเท้าบู๊ท อุปกรณ์ยังชีพ วิทยุสื่อสาร รถบรรทุก ในอนาคตเตรียมพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำและอากาศ เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด    

 

  **********************12 มิถุนายน 2558



   
   


View 16    12/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ