รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยี่ยมด่านควบคุมโรคไทย-ลาว ที่ช่องเม็ก อุบลราชธานี กำชับเจ้าหน้าที่เข้มงวดการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางตามชื่อเรียกองค์การอนามัยโลกแม้จะมีความเสี่ยงน้อย ก็ให้ดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งการวัดไข้ ซักประวัติการเดินทาง ขึ้นทะเบียนติดตาม หากมีไข้ ไอ ส่งพบแพทย์ทันที ชี้ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งเป็นจุดสำคัญช่วยคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
วันนี้ (13 มิถุนายน 2558) ที่ด่านพรมแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ที่เป็นชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้สัมภาษณ์ถึงระบบเฝ้าระวังคัดกรองโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส-โควี ว่า ผู้ที่เดินทางผ่านด่านทั้ง ทางบก ทางเรือ และทางอากาศ จะมีการตรวจวัดไข้ด้วยเครื่องอัตโนมัติ ขึ้นทะเบียนผู้มีความเสี่ยง หากมีไข้ ไอ จะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที โดยโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วย มีการเตรียมพร้อมเรื่องการรักษา แยกจุดตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ ให้สวมหน้ากาอนามัย เจ้าหน้าที่มีการป้องกันตนเอง และเคร่งครัดต่อมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า จากการเยี่ยมชมการทำงานของด่านควบคุมโรคช่องเม็ก พบว่ามีความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นชื่อใหม่ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเรียกเมอร์ส-โควี ในผู้เดินทางที่เคยไปพื้นที่เสี่ยงมีการระบาดของโรค เช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งการเฝ้าระวังคัดกรอง ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง นับว่าเป็นจุดสำคัญที่จะคัดกรองผู้เดินทางที่มีหนังสือเดินทางว่ามาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ส่วนผู้เดินทางเข้า-ออกตามแนวชายแดนที่ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว เช่นที่ช่องเม็ก แม้จะมีความเสี่ยงน้อย ได้กำชับให้เฝ้าระวังด้วยการวัดไข้ ซักประวัติการเดินทาง ประวัติการเจ็บป่วย สังเกตอาการเจ็บป่วย และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค หากสงสัยจะแยกผู้มีความเสี่ยงเพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียดอีกครั้ง พร้อมตอบแบบสอบถามด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยที่ด่านช่องเม็กมีผู้เข้า-ออกวันละ ประมาณ 1,000คน
สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทาง แต่ขอให้เคร่งครัดการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยเบาหวาน ปอดเรื้อรัง ไตวาย ควรระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอหรือจาม หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ หรือดื่มนมดิบที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ของสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งรังโรคเช่น อูฐ ถ้ามีอาการไข้ ไอ หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับบุคคลอื่น สวมหน้ากากป้องกันโรคและรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง หากมีไข้ ไอ ให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th ประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ รายงานองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยยืนยันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางจำนวน 1,172ราย เสียชีวิต 442 ราย จาก 25ประเทศ โดยในเอเชียปีนี้พบที่เกาหลีใต้และจีน
****************************** 13 มิถุนายน 2558
View 19
13/06/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ