รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ อย. กรมแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนามาตรการส่งเสริมการผลิตยาแผนไทย-ยาสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานสากล และมาตรฐานเทียบเคียงอาเซียน เร่งรัดขึ้นทะเบียนยาแผนไทยและยาสมุนไพรไทยเร็วขึ้นภายใน 90 วัน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จำหน่ายทั้งในประเทศ อาเซียน และตลาดโลก และพิจารณาความจำเป็นในการจัดทำร่างพ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ทั้งยาสมุนไพร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง รองรับอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้านโยบายส่งเสริมยาแผนไทยและยาจากสมุนไพรอย่างเป็นระบบ ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันพัฒนาในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนไทยและยาสมุนไพรไทย ซึ่งเดิมใช้เวลา 160 วัน จะให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 90วัน ให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ร่วมพิจารณาเอกสารคำขอ ทั้งด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา และให้อย.พิจารณาพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนแบบใหม่ให้ทันสมัย รวดเร็วขึ้น เช่น จ้างหน่วยงานภายนอก (third party) ดำเนินงานในบางขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก การใช้ระบบ IT มาช่วย ตั้งแต่การยื่นคำขอแบบอิเล็คทรอนิกส์ การตรวจหลักฐานเอกสารประกอบคำขอขึ้นทะเบียน เป็นต้น หรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในลักษณะองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับภาระงานการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนด้านยาแผนไทยและสมุนไพรเป็นการเฉพาะ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และลดระยะเวลาในการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนให้เหลือน้อยที่สุด และร่วมพัฒนามาตรฐานผู้ผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลก เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน และพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า การพัฒนามาตรฐานจีเอ็มพีโรงงานผลิตยาแผนโบราณและยาจากสมุนไพร ซึ่งขณะนี้มีกว่า 1,000 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 50 แห่ง เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี พีไอซีเอส(GMP PIC/s) ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นสูงและยอมรับในสากล สร้างความเชื่อมั่นของผู้ผลิตเหล่านี้ทั้งในประเทศ และสามารถส่งออกตลาดโลกได้ ส่วนที่เหลืออีก 800 กว่าแห่ง เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ยังใช้การผลิตตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิม 28 วิธี เช่น ทำเป็นยาผง ยาน้ำ ยาลูกกลอน ยาใช้ภายนอก จะเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานที่ยอมรับในการผลิตยาแผนไทย โดยอาจใช้มาตรฐานผลิตยาแผนโบราณตามความตกลงของอาเซียนหรือที่ใกล้เคียง เพื่อผลิตยาจำหน่ายในประเทศและตลาดอาเซียน
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาถึงความจำเป็นเหมาะสมที่ต้องจัดทำร่างกฎหมายแยกเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับการกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ทั้งยาสมุนไพร อาหารเสริมและเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตยาขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม มีมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การจดแจ้ง การแสดงสรรพคุณ ช่องทางการจำหน่าย บทลงโทษ เป็นต้น โดยจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียน และหารือในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในอีก 2 สัปดาห์
********************************* 14 มิถุนายน 2558
View 15
14/06/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ