วันนี้ (15 มิถุนายน 2558) นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนกระทรวงต่างๆ ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก สำหรับวันไข้เลือดออกอาเซียนจะตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่ง 10 ประเทศในอาเซียนจะร่วมรณรงค์ไปพร้อมกัน โดยจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ ในปีนี้ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเชิญตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนนวัตกรรมหาทางสู้กับโรคไข้เลือดออก ให้สำเร็จด้วยคำขวัญ Family Ownership Fighting DENGUE “ทุกครอบครัวร่วมใจ หยุดยั้งภัยไข้เลือดออก”
นายแพทย์วีระพันธ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกครั้งนี้ประกอบด้วย 8 หน่วยงานระดับกระทรวง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร จับมือกันจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยสาระสำคัญของ MOU นี้คือ 1.การร่วมมือดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และป้องกันควบคุม ประชาสัมพันธ์ โรคไข้เลือดออกในกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบ รวมถึงรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ในวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี 2.ความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือในด้านทรัพยากร วิชาการ และการบริหารจัดการ 3.บันทึกความร่วมมือนี้อาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เพื่อความเหมาะสม หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งแปดหน่วยงาน 4.บันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถึง 15 มิถุนายน 2562
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “โรคไข้เลือดออก” จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,024 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24 จังหวัด สำรวจระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายน 2558 จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญพบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ ร้อยละ 89.8 รับรู้ว่ายุงลายเป็นพาหะไข้เลือดออก และร้อยละ 89.4 รู้ว่าผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงหากมีอาการไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามแขนขา (อาการของโรคไข้เลือดออก) ร้อยละ 76.9 ตอบว่าควรรีบไปพบแพทย์ มีเพียงร้อยละ 7.7 ที่ตอบว่าปล่อยให้หายเอง แต่ประชาชนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคไข้เลือดออก โดยร้อยละ 42.6 ตอบว่า มียาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออกเป็นการรักษาตามอาการและถึงแม้จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลอง
สำหรับเรื่องพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเห็นได้จากวิธีการจัดการลูกน้ำยุงลายในชีวิตประจำวันยังไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยการทำความสะอาดรอบบ้าน พบร้อยละ 45.7 ที่ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 41.0 ทำบ้าง, การปิดฝาโอ่ง/ถังน้ำ มีเพียงร้อยละ 36.6 ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 49.7 ทำบ้าง, ส่วนการใส่ทรายกำจัดลูกน้ำมีเพียง ร้อยละ 18.6 ที่ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 50.1 ทำบ้าง, รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.7 ยังมีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเป็นกำลังหลักในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก รองลงมาคิดว่าตัวเองควรเป็นกำลังหลัก ร้อยละ 31.2
“ในโอกาสนี้ ขอฝากเตือนประชาชนทุกคนว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ทำให้เกิดแอ่งน้ำหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ ภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ ซึ่งปี 2558 นี้ กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา หากไม่ร่วมมือกันควบคุมอย่างเข้มแข็งอาจจะมีผู้ป่วย 60,000–70,000 ราย จากเมื่อปี 2557 ที่มีผู้ป่วย 40,999 ราย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันรณรงค์ในกิจกรรม BIG CLEANING DAY “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการเก็บ คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโปร่งโล่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บน้ำให้สนิทมิดชิดไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบๆบ้านและชุมชนที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งการรณรงค์ให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออกนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป โดยร่วมมือกันทำกิจกรรมในพื้นที่ 6 ร. ดังนี้ 1.โรงเรือน(บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย **************************** 15 มิถุนายน 2558