กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทย 3–5 ปีมีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 34 นักเรียนชั้นป.1ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ จับมือมหาดไทย ศึกษา และพัฒนาสังคมฯ เร่งพัฒนาเด็กเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งเป้าให้เด็กไทยมีพัฒนาสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลดเด็กปัญญาอ่อนได้ปีละกว่า 500 คน ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิดให้เหลือกว่า 8 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย
วันนี้ (24 มิถุนายน 2558) ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์ สุขภาพเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 16 และให้สัมภาษณ์ว่า จากผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2557 พบเด็กอายุ 3–5 ปี มีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 34 และ ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2558 ในนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ทั่วประเทศ 5,000 คน พบไอคิวเฉลี่ย 93.1 จุด ตามมาตรฐานต้องมีไอคิว 100 จุด สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากจากแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมากขึ้น การที่แม่อายุน้อย จะส่งผลกระทบหลายด้านทั้งอัตราการทำแท้ง ที่น่าเป็นห่วงคือ ทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งการติดเชื้อ เจ็บป่วยง่าย รวมทั้งพัฒนาการล่าช้า จากที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 8 แสนคนต่อปี
ศ.นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงมีนโยบายให้ปัญหาเรื่องพัฒนาการเด็กเป็นวาระระดับชาติ มอบกระทรวงสาธารณสุขบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาดไทย ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการ “การส่งเสริมการพัฒนาเด็กเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา” คัดกรองภาวะการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกคลอด และให้ได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนได้ทันในช่วงเวลาทอง (golden period) 2 สัปดาห์แรก จะลดเด็กปัญญาอ่อนได้ปีละกว่า 500 คน มีระบบคัดกรองและให้คำปรึกษา เพื่อยุติการตั้งครรภ์โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แก้ไขปัญหาโรคอ้วน โรคเด็กตัวเล็ก ตรวจสอบและรักษาผู้ที่มีความล่าช้าในการพัฒนา ตั้งเป้าให้เด็กไทยมีพัฒนาสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิดไม่เกิน 8 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย
นอกจากนี้ ได้มีการแจกยาเม็ดโฟลิกเสริมไปโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน เพื่อให้เด็กได้รับไอโอดีนและโฟลิกที่เพียงพอต่อพัฒนาการ จัดทำคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก มีทีมหมอครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ทั่วประเทศ 1ล้านกว่าคนให้คำปรึกษา จัดทำหลักสูตรความรู้เรื่องสุขอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงสูง เช่น การสูบบุหรี่และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับการประชุมฯครั้ง มีหัวข้อหลักคือ “ก้าวไปข้างหน้าเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นเด็ก(Step Forward to Better Child Health)” เน้นนโยบายการจัดการปัญหาสุขภาพเด็กระดับประเทศ การลดอัตราการตายของทารกแรกเด็ก รวมถึงการเชื่อมโยงถึงปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2558 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยกุมารแพทย์ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และนักวิชาการสาธารณสุข จาก ลาว เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และญี่ปุ่น จำนวน 400 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ องค์ความรู้ งานวิจัย ทั้งในด้านเทคนิคและระบบการให้บริการสาธารณสุข
******************************* 24 มิถุนายน 2558