“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยเภสัชบําบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสยาม จัดประชุมวิชาการนานาชาติเภสัชกรรมคลินิกระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของงานเภสัชกรรมคลินิก ทั้งด้านการปฏิบัติและการศึกษา โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง”
วันนี้ (24 มิถุนายน 2558) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กทม. ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านเภสัชกรรมคลินิกระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 (The 15th Asian Conference on Clinical Pharmacy (2015 ACCP)) จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยเภสัชบําบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสยาม ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2558 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมคลินิกในระดับประเทศและนานาชาติ เตรียมความพร้อมการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการพัฒนางานเภสัชกรรมคลินิกระหว่างประเทศ โดยมีเภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ และนักศึกษาจากอาเซียนและนานาชาติ เข้าร่วมประชุมกว่า 900 คน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านเภสัชกรรมคลินิกระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2540 ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของงานเภสัชกรรมคลินิก ทั้งด้านการปฏิบัติและการศึกษา โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งเภสัชกรทำหน้าที่บริหารจัดการยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทีมสุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยความก้าวหน้าของระบบการศึกษาและการฝึกปฏิบัติ จะสนับสนุนการปรับบทบาทการทำงานของเภสัชกรให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ ปี 2558 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ที่เป็นความท้าทายด้านสุขภาพ เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ข้ามพรมแดน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รุนแรงขึ้น การเคลื่อนย้ายของผู้ป่วยและของบุคลากรสาธารณสุขระหว่างประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติเภสัชกรรมคลินิกให้ทันต่อบริบทใหม่ ไปพร้อมกับทุกประเทศในอาเซียน
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเภสัชกรรมด้านมะเร็ง อาหารเสริม และความก้าวหน้าทางวิชาชีพเภสัชกรรม การบรรยายจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านวิชาการ วิชาชีพ และงานวิจัย อาทิ ผลงานเด่นด้านการใช้ยาปฏิชีวนะจากประเทศแถบตะวันออกและตะวันตก บทบาทเภสัชกรในโรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ ความท้าทายและบทบาทของเภสัชกรในการจัดการปัญหาเอชไอวีในเอเชีย การประชุมกลุ่มย่อย การประกวดผลงานวิชาการ โดยการนำเสนอทางวาจา 6O เรื่อง และการนําเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ พร้อมทั้งมอบรางวัลดีเด่นสําหรับผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท เพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนางานเภสัชกรรมคลินิกด้วย
******************************** 24 มิถุนายน 2558