กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดูแลผู้ป่วยโรคเมอร์สชาวโอมาน  เสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรฐาน โดยผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าพ้นจากการป่วยโรคเมอร์สแล้ว  ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ 5 ครั้ง โดยตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ ยังต้องคงมาตรการเข้มข้นทั้งการเฝ้าระวังโรค และการคัดกรองผู้เดินทาง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ติดโรค

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค  Mr.Abdullah Saleh Ahmed Al-Maimani เอกอัครราชทูตโอมานประจำประเทศไทย ดร.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายแพทย์นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว ผลการดูแลผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส  และแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
            ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์ส จำนวน 1 ราย เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 และมีผู้สัมผัสโรคจำนวน 176 คนซึ่งพ้นจากระยะเฝ้าระวังโรค 14 วันเรียบร้อยแล้ว  ทุกคนอาการปกติ ผลตรวจเสมหะจากลำคอ ไม่พบเชื้อไวรัสโรคเมอร์ส  ในส่วนผู้ป่วยโรคเมอร์ส ได้รับการดูแลรักษาในห้องแยกโรคความดันลบ ที่สถาบันบำราศนราดูร จนเสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรฐานแล้ว  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและด้านการชันสูตร ได้พิจารณาว่าพ้นจากการเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์สแล้ว   โดยผู้ป่วยรายนี้อาการดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่มีไข้มาเป็นเวลา 15 วัน หายใจได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยมา 5 วัน ผลเอกซเรย์ปอดดีขึ้นมาก เดินได้เอง การตรวจเชื้อเมอร์สในลำคอให้ผลเป็นลบมา 5 ครั้ง โดยตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ส่วนญาติผู้ป่วยทั้ง 3 คน อาการปกติ ผลตรวจเชื้อเมอร์สในลำคอเป็นลบ โดยเก็บตัวอย่างครั้งสุดท้ายวันที่ 1กรกฎาคม 2558 ตรวจได้ผลเป็นลบเช่นกัน สำหรับโรคประจำตัวมี่ผู้ป่วยมีอยู่แต่เดิม  จะแนะนำให้ตรวจรักษาต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าจะเลือกรักษาเมื่อใด หรือรักษาที่ใด 
   
   
   
ทั้งนี้ ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ยังมีความเสี่ยงที่จะพบโรคเมอร์ส รวมทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้เสมอ จากการที่มีผู้เดินทางเข้า-ออกจากประเทศ ทั้งไปและกลับจากพื้นที่ติดโรค รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical hub) ซึ่งจะมีผู้ป่วยโรคต่างๆ เข้ามารักษาในโรงพยาบาลของไทย จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น โดยตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรค ที่ช่องทางเข้าออกประเทศ ในโรงพยาบาล และในชุมชน ต้องยกระดับมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทั้งในภาครัฐและเอกชน กระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดตรวจเยี่ยมติดตามโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 
**************************   3 กรกฎาคม 2558
 


   
   


View 13    03/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ