กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติวิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ รอบ 5 เดือนแรกปี 2550 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 193 คน บาดเจ็บ 1,056 คน พบในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด โรงพยาบาล 47 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขมีค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาทั้งหมดกว่า 3 ล้านบาท นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงใน 5 จังหวัดภาคใต้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ ประเมินวิเคราะห์การเสียชีวิต การบาดเจ็บ เพื่อที่จะนำมาใช้ประกอบการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้อย่างเหมาะสม และรวดเร็วยิ่งขึ้น นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังกลุ่มผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทุกรายที่เข้ารักษาตัวหรือนำศพมาชันสูตรที่โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 47 แห่งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูลในรอบ 5 เดือนปี2550 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 193 คน บาดเจ็บ 1,056 คน จากเหตุการณ์ความรุนแรง 561 ครั้ง เมื่อแยกรายจังหวัด จังหวัดที่มีรายงานสูงสุดได้แก่นราธิวาส บาดเจ็บ 393 คน เสียชีวิต 76 คน รองลงมาได้แก่ยะลา บาดเจ็บ 330 คน เสียชีวิต 46 คน จังหวัดปัตตานี บาดเจ็บรวม 243 คน เสียชีวิต 48 คน สงขลาบาดเจ็บ 79 คน เสียชีวิต 23 คน โดยเมื่อคิดอัตราความรุนแรงแล้ว พบว่าผู้บาดเจ็บจะมีโอกาสรอดชีวิตประมาณร้อยละ 80 เมื่อพิจารณาด้านการรักษาพยาบาล พบว่า เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 11 เดินทางไปโรงพยาบาลเองร้อยละ 19 และนำส่งโดยหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเพียงร้อยละ 7 ซึ่งจะต้องปรับมาตรการทำงานด้านการแพทย์ โดยจะเพิ่มช่องทางแจ้งเหตุและการประสานงานโดยใช้วิทยุสื่อสารระหว่างหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพที่จุดเกิดเหตุกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาล สร้างความคล่องตัวในระบบ ผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตสูงยิ่งขึ้น ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้โรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ให้เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้บาดเจ็บจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอาการรุนแรง ต้องดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง และประสานใกล้ชิดกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ มีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาและเครื่องมือแพทย์พร้อมดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด ซึ่งการส่งต่ออาจใช้ทั้งรถพยาบาล หรือส่งต่อทางเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ได้รับความร่วมมืออย่างดีมากมาโดยตลอด ทั้งนี้ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบ ส่วนใหญ่เกิดจากวัตถุระเบิด ซึ่งมีผลทำให้อวัยวะหลายส่วนได้รับอันตราย มีโอกาสพิการสูง รองลงมาคือถูกอาวุธปืนยิง สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดที่บนถนนหรือทางหลวง รองลงมาเป็นสถานที่ค้าขายและบริการ เวลาเกิดเหตุมักอยู่ในช่วง 6.00 น.ถึง10.00 น. และ 17.00 น.ถึง 21.00 น. โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บทั้งหมด 3 ล้าน 7 แสนกว่าบาท และยังได้ให้การดูแลเยียวยาด้านจิตใจครอบครัวผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 370 คนด้วย สิงหาคม1/6 ******************************** 5 สิงหาคม 2550


   
   


View 9    05/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ