กระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย-เมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2558 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อสรุปผลและทบทวนแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสาธารณสุข 7 สาขา พ.ศ.2556-2558 พิจารณาข้อเสนอกิจกรรมการดำเนินงานระยะสั้น พ.ศ.2558-2559 และแผนปฏิบัติการความร่วมมือระยะปานกลาง พ.ศ.2559-2561
 
 
เช้าวันนี้ (23 กรกฎาคม 2558) ที่โรงแรมดุสิตไอร์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย ศาสตราจารย์ เธท คิน วิน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ (Prof. Thet Khine Win) พร้อมด้วยนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขไทย เปิดประชุมทวิภาคีระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย-เมียนมาร์ครั้งที่ 2 (2nd Myanmar-Thailand Health Collaborative Senior Officials Meeting) ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ เพื่อสรุปผลและทบทวนแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสาธารณสุข พ.ศ.2556-2558 ทั้งด้านความคืบหน้าการปฏิบัติ และปัญหาอุปสรรค รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอกิจกรรมการดำเนินงานในระยะสั้น พ.ศ. 2558-2559 ที่ไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมวันนี้ มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การฝึกอบรมบุคลากรใน 3 สาขา คือจิตเวช สุขภาพจิตชุมชน และการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 2.การพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดน สำหรับแรงงานต่างด้าวและประชากรข้ามพรมแดน 3.การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายอาหารและยา การแพทย์พื้นบ้าน สุขาภิบาลอาหาร  และกิจกรรมระยะปานกลาง พ.ศ. 2559-2561 ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ต่อไป 
 
นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศเมียนมาร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมา เริ่มจากการควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดนระหว่างประเทศใน 10 จังหวัดของไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงไปถึงจังหวัดระนอง ระยะทาง 2,837 กิโลเมตร เน้น 3 โรคสำคัญที่เป็นปัญหา ได้แก่ มาลาเรีย เอชไอวี/เอดส์และวัณโรค โดยมีความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่ชายแดน 4 จังหวัดคู่แฝด ได้แก่ เชียงรายกับท่าขี้เหล็ก ตากกับเมียวดี ระนองกับเกาะสอง และกาญจนบุรีกับทวาย และมีการขยายความร่วมมือด้านอื่นตามลำดับ 
 
ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 และจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือ พ.ศ.2556-2558 ใน 7 สาขาได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรคติดต่อ ได้แก่เอดส์ มาลาเรียและวัณโรค โรคอุบัติใหม่ เช่น ไข้หวัดนก รวมทั้งเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยา 2.การควบคุมมาตรฐานอาหารและยา มีการตั้งจุดตรวจสอบยาปลอมและยาต่ำกว่ามาตรฐาน 4 แห่งคือท่าขี้เหล็ก ทวาย เกาะสอง และเมียวดี  3.การพัฒนาแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร 4.การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง โดยเน้นแลกเปลี่ยนระเบียบและกฎหมายอาหารและยา 5.การควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคระบาดข้ามเขตแดน  6.การส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ และ7.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวรวมทั้งประชากรข้ามพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีประมาณ 1.6 ล้านคน โดยเฉพาะการจัดหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมให้กับประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาวิจัยร่วมกัน   
 
****************     23 กรกฎาคม 2558
 
 


   
   


View 12    23/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ