“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในพื้นที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง หรือน้ำป่าไหลหลาก ให้ระวังโรคฉี่หนู ปีนี้พบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย มากสุดที่ภาคใต้ และอีสาน หากมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง ตาแดง ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลน เพื่อรักษาให้รวดเร็ว ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ชี้หากรักษาช้า โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคที่เป็นห่วงและพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนก็คือโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) สำนักระบาดวิทยารายงานสถานการณ์โรคฉี่หนู ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 - 17 กรกฎาคม 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยใน 55 จังหวัด รวม 662 ราย เสียชีวิต 10 ราย ใน 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง มหาสารคาม นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง และตรัง จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด ได้แก่ระนอง ศรีสะเกษ พังงา นครศรีธรรมราช กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุดในกลุ่มเกษตรกรเกือบร้อยละ 60 รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง และนักเรียน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 44-64 ปี อายุต่ำสุดที่พบติดเชื้อคือ 1 ขวบ
สำหรับอาการป่วยของโรคฉี่หนูที่เป็นลักษณะเฉพาะ มีดังนี้คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง อาการดังกล่าวบางครั้งประชาชนอาจชะล่าใจ คิดว่าเป็นไข้ทั่วไป หรือปวดเมื่อยจากการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ หากมีอาการป่วยและไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ขอให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว หากไปรับการรักษาล่าช้า อาจทำให้เชื้อลุกลามทำลายอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอด อาการจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะแอ่งน้ำขังเล็กๆ เนื่องจากปริมาณเชื้อฉี่หนูจะมีความเข้มข้นสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินย่ำโคลน พื้นดินชื้นแฉะ หากมีความจำเป็นต้องเดินลุย ควรสวมรองเท้าบู๊ทยางป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดิน รวมทั้งป้องกันสิ่งของมีคมทิ่มแทง และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดหลังเดินย่ำน้ำย่ำโคลนแล้ว ทั้งนี้ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กใกล้ชิด เนื่องจากเด็กยังไม่รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง และดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู
โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในไตของหนูทุกชนิด เชื้อจะออกมากับฉี่ปนเปื้อนอยู่ในดินโคลน ชื้นแฉะ หรืออยู่ในแอ่งน้ำขังเล็กๆ มีชีวิตได้นานหลายวัน มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้ โดยไชเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก รวมทั้งผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน จึงขอย้ำเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง หรือมีน้ำป่าไหลหลาก ขอให้หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำย่ำโคลน โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยถลอกที่บริเวณเท้าและขา ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โรคนี้มียารักษาหายขาด
*********************** 30 กรกฎาคม 2558