“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนระวังภัยเห็ดป่า ปีนี้พบผู้กินเห็ดป่าพิษ 337 ราย มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสียคล้ายโรคอาหารเป็นพิษ กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งซักประวัติเพื่อแยกสาเหตุเพื่อการรักษาเหมาะสม
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีเห็ดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติทั้งชนิดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เป็นต้น และชนิดที่กินไม่ได้ เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเก็ดดาว เป็นต้น ซึ่งประชาชนบางพื้นที่ยังเข้าใจผิดและเก็บเห็ดพิษมากิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วย 337 ราย จาก 38 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย ที่ จังหวัดตาก โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วยสูงสุด มากที่สุดที่จังหวัดอุบลราชธานี 88 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ มากที่สุดที่เชียงราย 29 ราย อาการเมาเห็ดพิษ มักเกิดหลังกินเห็ดไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ หากได้รับพิษมาก อาจทำให้ตับไตวายได้ ให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ซักประวัติผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษทุกราย เพื่อแยกสาเหตุว่ามาจากการรับประทานเห็ดพิษหรือไม่ เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
นายแพทย์อำนวยกล่าวต่อว่า ได้ให้สำนักสาธารณสุขจังหวัดและอาสาสมัครสาธารณสุข เร่งให้ความรู้ประชาชน สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเห็ดป่า โดยเฉพาะความเชื่อผิดๆในการทดสอบเห็ดพิษ ซึ่งเสี่ยงอันตรายสูง เช่น การนำเห็ดมาต้มกับข้าวสาร หรือต้มกับช้อนเงิน หรือเชื่อว่าการปรุงเห็ดด้วยความร้อนสูง เช่น แกง ต้ม จะทำลายพิษเห็ดได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากความร้อนไม่สามารถทำลายสารพิษในเห็ดพิษทุกชนิดได้ เห็ดพิษบางชนิดไม่ได้ทำให้ช้อนเงินเปลี่ยนสี หรือไม่ได้ทำให้ข้าวสารที่ต้ม สุกๆดิบๆ แต่อย่างใด
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการป่วย ส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกหิน ซึ่งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่กินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกหิน จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง ช่วงที่ประชาชนจะเสี่ยงอันตรายจากเห็ดป่าที่สุดคือ ช่วงดอกอ่อนหรือเห็ดยังตูม ทั้งเห็ดพิษและเห็ดที่กินได้จะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากมาก และสารในเห็ดพิษจะทนต่อความร้อน ไม่สามารถทำลายพิษได้ ทำให้มีข่าวปรากฏบ่อยครั้งว่าพบผู้ป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว และยังมีเห็ดพิษรุนแรงอีกหลายชนิด เช่น เห็ดเมือกไครเหลือง และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายเห็ดโคนขนาดเล็ก
นอกจากนี้ขอแนะนำให้ประชาชนไม่ควรกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ด แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ให้ช่วยเหลือเบื้องต้น โดยทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้ได้มากที่สุด เช่น การล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว เพื่อขับพิษออกจากร่างกายเร็วที่สุด และนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน ควรรีบไปพบแพทย์ และบอกประวัติกินเห็ดแก่แพทย์ผู้ให้การรักษา พร้อมนำตัวอย่างเห็ดพิษไปให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้ เห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรเก็บมาบริโภค ได้แก่เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก หรือเห็ดที่มีปุ่มปม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
****************** 31 กรกฎาคม 2558