รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศให้เป็นแหล่งควบคุมการันตีความปลอดภัยอาหาร จากแหล่งผลิตปลอดสารพิษในพื้นที่ เพื่อนำมาปรุงให้ผู้ป่วยและวางจำหน่ายในโรงพยาบาล โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นำร่อง 27 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะขยายครอบคลุมทุกแห่งภายในพ.ศ.2552 วันนี้ (6 สิงหาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยต้นแบบ ปี 2550 (Hospital Food Safety Award 2007) ให้แก่นายแพทย์สมบูรณ์ศักดิ์ ญาณไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ที่ได้พัฒนาการสร้างความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้ป่วยและประชาชนในจังหวัดเชียงรายตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างครบวงจร และขยายถึงโรงเรียน เรือนจำ และวัดต่างๆในพื้นที่อำเภอเมือง โดยมีเครือข่ายผู้ผลิตอาหารปลอดสารพิษ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกพืช ผัก ผลไม้ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ เพื่อใช้ในการบริโภค ทำให้อาหารที่ปรุงให้คนป่วยและอาหารที่วางจำหน่ายในโรงพยาบาลทุกชนิด มีความปลอดภัย ปราศจากสารพิษหรือเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อน นายแพทย์มงคลกล่าวว่า อาหารที่ปรุงให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีความสำคัญมากต่อการหายป่วยไข้ ซึ่งต้องจัดให้เหมาะสมกับโรค มีการคำนวณปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ส่วนที่มีความสำคัญอันดับ 1 คือต้องสะอาด และปลอดภัยจากสารพิษ เชื้อโรคปนเปื้อน เมื่อผู้ป่วยกินแล้วจะต้องมีอาการดีขึ้น ไม่เพิ่มโรคให้ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดจำนวนกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เริ่มอบรมนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปรวม 27 แห่ง และจะให้ครบทุกแห่ง ภายในปี 2552 ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามนโยบายนี้ อาหารผู้ป่วย และอาหารทุกประเภทที่จำหน่ายในร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ ร้านสหกรณ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ภายในโรงพยาบาล จะต้องผ่านเกณฑ์ปลอดภัย 3 ด้านได้แก่ กลุ่มอาหารสดจะต้องไม่มีสารพิษหรือเชื้อโรคปนเปื้อน ตามเกณฑ์อาหารปลอดภัย (Food Safety) อาหารแปรรูปผ่านการรับรองคุณภาพจาก อย. และอาหารปรุงสำเร็จผ่านเกณฑ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) โดยให้โรงพยาบาลทำการตลาดกับแหล่งผลิตอาหารที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อส่งจำหน่ายและตรวจรับรองที่โรงพยาบาลโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นแหล่งควบคุม ตรวจสอบคุณภาพอาหารในจังหวัด และขณะเดียวกันจะเป็นจัดตลาดอาหารปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ผลิต ให้ผลิตอาหารที่ปราศจากการปนเปื้อนป้อนให้ผู้บริโภค ทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย ปลอดการใช้สารเคมีสารพิษอันตรายตลอดห่วงโซ่อาหาร นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินผลในปี 2550 มีโรงพยาบาลต้นแบบประจำ 4 ภาค ภาคเหนือที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ภาคกลางที่โรงพยาบาลราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โรงพยาบาลขอนแก่น และภาคใต้ ที่โรงพยาบาลสงขลา มั่นใจว่าเมื่อโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศทำเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จ จะทำให้ประชาชนที่ต้องการอาหารปลอดสารพิษรู้แหล่งที่ซื้อหาสินค้า กระตุ้นให้ผู้ผลิตเกิดความตระหนัก และมีตลาดรองรับทำให้เกิดกำลังใจ กล้าขยายกำลังการผลิตต่อไป


   
   


View 11    06/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ