กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยตายด้วยโรคเอ็นซีดี (NCDs) ปีละกว่า 3 แสนราย เป็นอันดับ 1 ของการตายทั้งหมด เร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดหวาน มัน เค็ม ลดการดื่มสุราและบุหรี่ ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลงจากเดิมร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี
วันนี้ (10 สิงหาคม 2558) ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดมหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ NCD Forum 2015 บูรณาการ สานพลัง ลดเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านโรคไม่ติดต่อ เสริมความรู้ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ
ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เกิดจากวิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ คอยอำนวยความสะสวก เช่น รีโมท บันไดเลื่อน ลิฟท์ มือถือ มีอาหารที่สั่งตรงถึงบ้าน หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็มเกินสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ตามมาด้วยภาวะไขมันผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และหากยังมีการดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดิม ก็จะเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ตามมา
ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ประมาณ 36 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา สำหรับไทยพบว่าโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง มากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และเบาหวาน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยมูลค่า 198,152 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้ประชาชาติ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า กลุ่มโรคเอ็นซีดีสามารถป้องกันได้ แต่ต้องมีมาตรการที่ดี การพัฒนางานบริการสุขภาพทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยจัดให้มีระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิผลและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันการทำงานเชิงรุกก็ทำคู่ขนานกันไป เช่น การรณรงค์สื่อสารเตือนภัย การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การคัดกรองภาวะแทรกซ้อน อันสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ในมาตรการระดับประชากรที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่า และผลักดันให้มีนโยบายสาธารณะในภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคสุขภาพที่จะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคและขับเคลื่อนงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อภายในปี 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก อาทิ ลดอัตราตายลงให้ได้ร้อยละ 25 การบริโภคเค็มลดลงร้อยละ 30 การบริโภคยาสูบลดลงร้อยละ 30 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 ภาวะอ้วนและเบาหวานไม่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นครอบคลุมร้อยละ 80 และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคไม่ติดต่อ ต้องได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามความเสี่ยง โดยมีทีมหมอครอบครัว ที่ประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพ เข้าไปดูแลประชาชนถึงบ้านตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการดูแลรักษาแบบใกล้บ้านใกล้ใจ
*********************10 ส.ค. 2558