กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกิจกรรมปั่นเพื่อแม่ทั้งในส่วนส่วนภูมิภาคและ กทม .โดยในส่วนภูมิภาคมอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนกทม.เตรียมทีมแพทย์ 200 ทีม ประจำจุดปฐมพยาบาล ตลอดเส้นทางขบวนจักรยาน และในทีมจักรยานแพทย์ พร้อมโรงพยาบาลปลายทางรับส่งต่อ ทำงานร่วมกับ ทหาร ตำรวจ กทม. โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ  เพื่อดูแลด้านสุขภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ดีที่สุด

วันนี้(13 สิงหาคม 2558)ที่กระทรวงสาธารณสุข .นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ และพญ.อัญชลี ไชยสัจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แถลงข่าว การจัดบริการทางการแพทย์ดูแลประชาชนที่ร่วมโครงการปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ Bike for Mom“ปั่นเพื่อแม่”16 ..2558 พร้อมกันทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการการจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงจักรยานนำขบวนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชน จากพระราชวังดุสิต ไปยังกรมทหารราบที่ 11 และกลับมายังลานพระราชวังดุสิต ประมาณ 43 กิโลเมตร คาดว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ในกรุงเทพมหานครประมาณ 40,000 คน
       ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้จัดบริการการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ดีที่สุดตลอดการจัดกิจกรรม ให้บริการอย่างรวดเร็ว มีการปฐมพยาบาลและประเมินอาการก่อนส่งต่อสถานพยาบาล ดูแลทั้งอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย โดยดำเนินการดังนี้ 1.การบริการแพทย์ประจำจุด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นกิจกรรมคือลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า ที่จุดพักคอย คือ ที่ สนามกีฬากองทัพบก และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดปลายทางคือ กรมทหารราบที่ 11 2.การบริการแพทย์ประจำจุดบริการในเส้นทาง 57 ทีม โดยปฏิบัติภารกิจ ร่วมกับทีมทหาร ณ จุดตำบลส่งกำลังบำรุง 11 จุด ซึ่งเป็นจุดบริการซ่อมบำรุง อาหาร น้ำดื่ม รวมทั้งร่วมกับตำรวจที่กำหนดพื้นที่ทำงานเป็น 21 โซน  3.ชุดจักรยานแพทย์เคลื่อนที่  ซึ่งมีชุดติดตามขบวนตลอดเส้นทาง เพื่อดูแลผู้เข้าร่วมกิจกรรมผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว และชุดเคลื่อนที่เร็วระหว่างเส้นทางขบวนจักรยาน เพื่อช่วยเหลือประเมินผู้บาดเจ็บ 4.เตรียมโรงพยาบาลปลายทางเพื่อรับส่งต่อ
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการทั้งในส่วนภูมิภาคและใน กทม.  ในส่วนภูมิภาคได้มอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ จัดเตรียมโรงพยาบาลแม่ข่ายเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน และมอบให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ โดยประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดแบ่งพื้นที่การทำงาน ให้โรงพยาบาลภายในจังหวัดจัดทีมแพทย์ประจำจุด ในจุดพื้นที่เสี่ยงและร่วมในขบวน  ทั้งนี้เป็นการทำงานภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด
ในเขต กทม. ได้วางแผนการทำงานร่วมกับทหาร ตำรวจ กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิ และสมาคม แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ 1.พื้นที่บริเวณลานพระรูปทรงม้า ถึงแยกเสาวนีย์ อยู่ภายใต้การสั่งการของศูนย์เอราวัณ 2.พื้นที่ตั้งแต่แยกเสาวนีย์ ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน อยู่ภายใต้การสั่งการของกรมการแพทย์   และ 3.พื้นที่ตั้งแต่ทางออกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึง กรมทหารราบที่ 11 อยู่ภายใต้การสั่งการของกรมการแพทย์ ส่วนพื้นที่ภายในกรมทหารราบ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ อยู่ภายใต้การสั่งการของกรมแพทย์ทหารบก และทหารราบที่ 11กรมแพทย์ทหารอากาศ  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
        ด้านนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับกทม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทีมแพทย์ 200 ทีม ประจำจุดปฐมพยาบาลทั้ง 60 จุด ตลอดเส้นทางขบวนจักรยาน ประกอบด้วยทีมกู้ชีพชั้นสูง 54 ทีม ทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐาน 60 ทีม และทีมปฐมพยาบาล 40 ทีม โดยทีมปฐมพยาบาลจะอยู่จุดจอดรถจักรยานก่อนเข้าร่วมขบวนปั่นที่ลานพระรูป กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรมทหารราบที่ 11 จำนวน 40 ทีมส่วนทีมจักรยานแพทย์ มีทีมประสานงานเป็นแพทย์และพยาบาล และมีสมาคมจักรยานฯ เข้าร่วมเป็นผู้รับแจ้งเหตุ มีตำรวจประจำตลอดเส้นทางทุกๆ 20 เมตรช่วยในการดูแลความปลอดภัยผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ด้านนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า การเตรียมตัวก่อนการปั่นจักรยานควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงไม่ดื่มเหล้ารับประทานอาหารก่อนปั่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังปั่นหากมีโรคประจำตัวควรเตรียมยาพกติดตัวตลอดเวลาเตรียมอุปกรณ์หมวกกันน๊อคถุงมือแต่งกายให้ทะมัดทะแมงไม่รุ่มร่ามการปั่นในช่วงที่มีอากาศร้อนขอให้จิบน้ำบ่อยๆทุก 15 – 20 นาทีใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีสวมแว่นกันลมหรือแว่นกันแดดเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและช่วยลดความจ้าของแสงแดดและหากอ่อนเพลียหรือไม่มีแรงปากแห้งน้ำลายเหนียวกระหายน้ำควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยแร่ธาตุที่สูญเสียไปกับเหงื่อ
ด้าน พญ.อัญชลี ไชยสัจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เตรียมมะขามป้อมหมักน้ำผึ้งกับชะเอมนานถึง 6 เดือนแจกประชาชนที่เข้าร่วมขบวนปั่นจักรยานในกทม.จำนวน 10,000 ชุด แจกที่จุดสตาร์ท โดยให้อมก่อนปั่น 1 นาทีแล้วค่อยๆเคี้ยว เพื่อให้น้ำผึ้งกับชะเอมเคลือบอยู่ที่กระพุ้งแก้ม ทำให้ชุ่มคอ ไม่เหนื่อยง่าย และแจกน้ำน้ำทิพย์สำราญตำรับ 103 ปี มีสมุนไพรรวมกว่า 10 ชนิด เช่น ฝาง ครั่ง รากมะนาว รากมะกรูด มะลิ จันทน์เทศ เกสร ดอกบัวสรรพคุณดับกระหายคลายร้อนแจกไม่อั้นตลอดเส้นทางการปั่นจักรยานและแจกยาดมสูตรอภัยภูเบศร์ อีก 1,000 หลอดประจำที่จุดปฐมพยาบาล

***************************   13 สิงหาคม 2558



   
   


View 12    13/08/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ