กระทรวงสาธารณสุข ให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชนจากหมอกควันไฟใกล้ชิด เตรียมยาเวชภัณฑ์พร้อมบริการตลอด 24 ชม. ย้ำเตือน 4 กลุ่มเสี่ยง ในช่วงนี้ควรงดออกนอกบ้านและสวมหน้ากากอนามัย หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น ให้พบแพทย์ที่รพ.ใกล้บ้าน ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยจากหมอกควันไฟ

 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันไฟในภาคใต้ว่า ในวันนี้ (4 กันยายน 2558) ได้รับรายงานว่า สถานการณ์หมอกควันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ปริมาณหมอกควันอยู่ระหว่าง 35 – 68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ไม่ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันอย่างใกล้ชิดร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อประเมินผลกระทบสุขภาพประชาชน และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบง่ายกว่าคนทั่วไป คือ 1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 3 โรค ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.ผู้สูงอายุ 3.เด็กเล็ก 4.หญิงตั้งครรภ์ หากไม่จำเป็นขอให้อยู่ในบ้าน งดการออกกำลังกาย หากต้องออกนอกบ้านขอให้ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันสูดละอองควันไฟเข้าปอด  รวมทั้งให้สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมหน้ากากอนามัยให้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายแก่ประชาชน โดยส่วนกลางได้สำรองหน้ากากอนามัยไว้ประมาณ 50,000 ชิ้น 
 
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพกลุ่มเสี่ยง จากการติดตามช่วง 1-2 วันมานี้ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตามจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยได้แจกหน้ากากอนามัยประชาชนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 10,000 ชิ้น
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันผลกระทบสุขภาพจากหมอกควันไฟ ขอให้ประชาชนปฏิบัติดังต่อไปนี้ 1.ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด โดยเฉพาะตอนเช้า เนื่องจากหมอกควันจะลอยต่ำเพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสหมอกควัน 2.ควรทำความสะอาดบ้านโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด เพื่อลดปริมาณฝุ่น 3.ป้องกันการสูดละอองควันไฟ โดยใช้หน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดปากและจมูกและเปลี่ยนทุกวัน 4.ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ออกกำลังกาย เดินเล่น หรือทำงานหนัก เนื่องจากจะเพิ่มการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย 10-20 เท่าตัว และหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 

********************* 4 กันยายน 2558


   
   


View 16    04/09/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ