รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ให้บรรลุเป้าหมาย 13 ข้อ สู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติ และปรับตัวสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพไทย รองรับประชาคมอาเซียน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความเสี่ยงและบรรเทาภัยพิบัติและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ 
 
วันนี้ (14 กันยายน 2558)ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยาจ.ชลบุรี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2558 ครั้งที่ 23 ในหัวข้อ“จุดเปลี่ยนสุขภาพไทยหลังปี 2015” มอบช่อดอกไม้แก่ผู้ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทรและรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม พร้อมบรรยายพิเศษ นโยบายสาธารณสุขปี 2559 และจุดเปลี่ยนสุขภาพไทย หลังปี ค.ศ.2015
 
.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสุขภาพไทยหลังปี ค.ศ.2015 สู่การมีสุขภาพที่ดีนั้น มีอยู่ 2 หัวข้อหลักๆ คือการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายสหประชาชาติหลังปีค.ศ.2015 และการเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ซึ่งสหประชาชาติได้มีการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมาย 13 ข้อ ภายใน ปีค.ศ.2030 อาทิ ลดอัตราการตายของมารดาให้น้อยกว่า 70 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ขจัดปัญหาการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดให้น้อยกว่า 12 ต่อ1,000 หยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่อในกลุ่มประเทศเขตร้อน ลดการตายก่อนวัยอันควรที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกประเทศ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในหลายข้อแล้ว และเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศสมาชิก
  
 
ในส่วนของประเทศไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความเสี่ยงและบรรเทาภัยพิบัติ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายด้านสุขภาพ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไทยเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประเทศอื่น การให้ความสำคัญกลุ่มเด็ก สตรี ผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2568 ได้พัฒนาโครงสร้างต่างๆ ให้รองรับ เช่น โครงสร้างของโรงพยาบาลทุกระดับต้องปรับทางกายภาพและองค์กร เพื่อให้ผู้สูงอายุมาใช้บริการสะดวก ปลอดภัย และการเตรียมพร้อมรับโรคภัยสุขภาพและอันตรายต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม จากความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เช่นโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมี่ยม ปรอท สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น
 
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมพร้อมสู่ประชาชนคมอาเซียน ดังนี้ 1.ปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทย เช่นเตรียมรองรับผู้รับบริการ เพิ่มโอกาสเข้าถึง เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการและระบบบริการสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน การควบคุมโรคติดต่อและโรคระบาด มาตรการรองรับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายบุคลากร การจัดตั้งหน่วยงานดำเนินงานด้านสาธารณสุขอาเซียนและกิจการระหว่างประเทศ 2.สร้างการยอมรับและความเป็นผู้นำในด้านงานการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค ให้เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการปัญหาสาธารณสุขเร่งด่วน พร้อมพัฒนาและดำเนินการในประเด็นสาธารณสุข
 
  
  
 
 
           ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมวิชาการปี 2558 นี้ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดร่วมประชุมกว่า 6,400 คน และมีบุคลากรส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 1,025 เรื่อง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบวาจา 303 เรื่อง นำเสนอแบบโปสเตอร์ 404 เรื่อง นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 196 เรื่อง และผลงานวิชาการอาร์ทูอาร์ 122 เรื่อง สำหรับปี 2557 มีผลงานวิชาการยอดเยี่ยม 7 รางวัล เป็นรางวัลยอดเยี่ยม 4 รางวัล  ได้แก่ นางพรพิไล วรรณสัมผัสสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร จ.ยโสธร เรื่อง การพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกด้วยกระบวนการห้าเครือข่าย ห้าร่วม ห้าคุณลักษณะ อำเภอเมืองยโสธร นพ.เอนก มุ่งออมกลาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง การเพิ่มศักยภาพของระบบเฝ้าระวังโรคจากการทำงานและเกี่ยวเนื่องจากการทำงานภายใต้กรอบแนวคิดแบบธุรกิจกิจการเพื่อสังคม นายชาติชาย นินนานนท์ รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง Artificial sac for Gastroschisis และนางเยาวดี ตั้งจิตวิทยา รพ.สุราษฎร์ธานี เรื่องการพัฒนาคุณภาพระบบเยี่ยมบ้านในเครือข่ายปฐมภูมิเขตเมืองสุราษฎร์ธานี
   
 
รางวัลดีเด่นมี 1 รางวัล คือ เภสัชกรชัยวัฒน์ สิงห์หิรัญนุสรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เรื่อง การพัฒนากระบวนการประสานรายการยา ผู้ป่วยนอกโรคความดันโลหิตสูงของโรคพยาบาลชุมชน จังหวัดชัยนาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ น.ส.ดวงรักษ์ สวัสดิ์ภาพ รพ.ลำปาง เรื่อง ผลของการบริหารเข่าวิธี “drop and dangle” ภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องช่วยงอเข่าแบบอัตโนมัติ และ นายภูดิศ สะวิคามิน รพ.เซกา จ.บึงกาฬ เรื่อง ที่นอนลมป้องกันแผลกดทับ 
 
ส่วนผู้ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร 4 ราย ได้แก่ 1.ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ นายกสมาคมวิชาชีพสุขศึกษา กรุงเทพฯ ได้รางวัลประเภทบริหาร 2.ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหาร รพ.จุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ ได้รางวัลประเภทวิชาการ 3.นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสถาบันการเงินชุมชน ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้รางวัลประเภทผู้นำชุมชน และ4.นางฮาซานียะห์ หะยีเจะอาแว อาสาสมัครสาธารณสุข อ.เมืองจ.ปัตตานี ได้รางวัลประเภทประชาชน
 
********************************* 14 กันยายน 2558
 


   
   


View 23    14/09/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ