กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้รับความชื่นชมในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่68 ที่ติมอร์เลสเต้ ประกาศสนับสนุนมาตรการยกระดับการควบคุมการบริโภคยาสูบในภูมิภาค 11 ประเทศ หวังลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่มีสาเหตุหลักมาจากสูบบุหรี่ โดยสูบในบ้าน 250 ล้านคน  

 
นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 68  (Sixty-Eight Session of the WHO Regional Committee for South East Asia : RC 68) จัดที่กรุงดิลี สาธารณรัฐติมอร์ เลสเต้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากประเทศสมาชิก ทั้งหมด 11 ประเทศร่วมประชุม วาระสำคัญครั้งนี้คือ การยกระดับการควบคุมการบริโภคยาสูบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อลดและป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็ง โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ในภูมิภาคตะวันออเฉียงใต้มีอัตราสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 35 มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน 250 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละ 1.1 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากสูบบุหรี่ 
 
นายแพทย์สุริยะกล่าวว่า ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการควบคุมการบริโภคตามกรอบขององค์การอนามัยโลกกับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะมาตรการการเก็บภาษีบุหรี่ สถานที่สาธารณะปลอดภัยบุหรี่ การควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ และขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 70 % เป็น 85% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนพิษภัยบุหรี่ โดยได้รับความชื่นชมอย่างมากจากที่ประชุม โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขของทั้ง 11 ประเทศได้ให้การรับรองคำประกาศดิลี ว่าด้วยการยกระดับการควบคุมการบริโภคยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคด้วย
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรียังได้หยิบยกเรื่องการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพในภูมิภาคฯ เพื่อส่งเสริมการก้าวไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้การบูรณาการและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนับว่าไทยประสบความสำเร็จในด้านนี้ แต่ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความท้าทายในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังปี พ.ศ. 2558 ซึ่งสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดทั้งหมด 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายย่อย และจะให้การรับรองเป้าหมายดังกล่าวในสัปดาห์หน้า ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ 13 เป้าหมายย่อย เช่น การลดอัตราการตายในมารดาและทารก การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การควบคุมการบริโภคยาสูบ การให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น ซึ่งไทยได้เตรียมการในเรื่องนี้อยู่แล้ว และจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งร่วมกับภาคีอื่นๆ ทั้งในและนอกระบบสุขภาพ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว 
 
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์ เลสเต้ ประชากรรวมประมาณ 1,500                  
 
 **************    17 กันยายน 2558 
 


   
   


View 20    17/09/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ