กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในช่วงฤดูหนาว เตือนประชาชนไม่ให้นำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือตายผิดปกติมารับประทาน เสี่ยงติดเชื้อ และหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานผู้ป่วย รีบพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมงหรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมดูแลรักษา

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อฤดูฝนกับหนาว อากาศเย็นชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค รวมทั้งบางพื้นที่เริ่มมีนกอพยพหนีหนาวเข้ามาในประเทศ แม้ไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2549 และไม่มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ปีกตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา แต่ยังคงระดับการเฝ้าระวังป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคดังกล่าว กำชับให้กรมควบคุมโรค ทำงานใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลก เพื่อติดตามสถานการณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนก โรงพยาบาลทุกแห่งพร้อมเรื่องรักษาพยาบาล 
ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคที่ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ ทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างเข้มข้น เน้นหนักพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ขอให้ประชาชนร่วมป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก โดยสังเกตอาการของสัตว์ปีกทั้งเป็ด ไก่ นกที่เลี้ยงไว้ รวมทั้งนกธรรมชาติ หากติดเชื้อและป่วยจากไข้หวัดนกจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ไข่น้อยลง หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ ท้องเสีย ให้สงสัยอาจติดเชื้อไข้หวัดนก ห้ามนำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 
 ********************************** 4 พฤศจิกายน 2558


   
   


View 13    04/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ