กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดปฏิรูประบบ 5 เรื่องหลักได้แก่ ความเป็นเอกภาพการบริหารจัดการ การเงินการคลังด้านสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันปัจจัยเสี่ยง จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และการใช้ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทยในการพัฒนาสุขภาพ เพื่อบรรลุระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้าและเป้าหมายสุขภาพระดับโลก
 
บ่ายวันนี้ (9 พฤศจิกายน 2558) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การปฏิรูประบบสุขภาพ “Updated Health Care Reform” ในที่ประชุมวิชาการพยาบาลแห่งชาติครั้งที่ 15 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี ผู้บริหารพยาบาล อาจารย์พยาบาล พยาบาลวิชาชีพและนิสิตนักศึกษาพยาบาลจากทั่วประเทศ ประมาณ 1,500 คน เข้าร่วมการประชุม
 
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดูแลสุขภาพของประชาชนร่วมกับภาครัฐอื่นและเอกชน มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของบริการสุขภาพทั้งหมด ได้ปฏิรูประบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี ได้รับบริการจากบุคลากรที่มีมาตรฐานวิชาชีพและมีคุณธรรม ปัจจุบันคนไทยมีระบบประกันสุขภาพครอบคลุม เป็นสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 73.31 ประกันสังคมร้อยละ 16.9 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจร้อยละ 7.39 หน่วยงานส่วนท้องถิ่นร้อยละ 0.88 ที่เหลือเป็นผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนสิทธิ ส่งผลให้ผู้ป่วยในสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 48 ล้านกว่าคนเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ91.21 และผู้ป่วยในร้อยละ 78.87 โดยประชาชนพึงพอใจในบริการมากถึงร้อยละ 94.54 ส่วนผู้ให้บริการพึงพอใจร้อยละ 64.42
 
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้าที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับบุคคล มากกว่าการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ และบรรลุเป้าหมายสุขภาพระดับโลก ที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษทั้ง 8 ข้อสิ้นสุดลง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่กันยายน 2558 ถึงสิงหาคม 2573 ตั้งเป้าบรรลุ 17 เป้าหมาย อาทิ หยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่อในกลุ่มประเทศเขตร้อน ลดการตายก่อนวัยอันควรที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกประเทศ เป็นต้น ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าดำเนินการใน 5 เรื่องคือ 1.ความเป็นเอกภาพของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ 2.การเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาวของระบบ ให้มีความยั่งยืน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ และการหาแหล่งเงินที่เหมาะสม 3.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดการเจ็บป่วย 4.จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 5.การใช้ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทยในการพัฒนาสุขภาพ 
 
ทั้งนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอ 3 วาระปฏิรูป คือ ระบบบริการสาธารณสุข ระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ อาทิ การปฏิรูปให้ระดับปฐมภูมิพื้นที่เป็นฐานระบบสุขภาพอำเภอ ระบบการสนับสนุนตามกรอบระบบสุขภาพซึ่งมีองค์ประกอบที่พึงประสงค์หลัก 6 ส่วนขององค์การอนามัยโลก กลไกสร้างความเข้มแข็งทุกระดับ กระจายให้ชุมชนท้องถิ่น การมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่น การแยกบทบาทผู้กำหนดนโยบาย-ผู้จัดบริการ-ผู้ซื้อ-ผู้สนับสนุน  การผลิตและพัฒนาคน ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์
 
 ********************************* 9  พฤศจิกายน 2558


   
   


View 14    09/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ