กระทรวงสาธารณสุข ใช้วิตามินโฟเลตป้องกันความพิการแต่กำเนิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ก่อนตั้งครรภ์ได้เกือบทั้งหมด หากพบผู้มีปัญหาจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาแบบองค์รวม พร้อมจับมือเครือข่ายสุขภาพทำแผนป้องกันและรักษา และเร่งขึ้นทะเบียนเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) ที่ โรงแรมตวันนา กรุงเทพฯ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “National Forum on Birth Defects & Disabilities” ครั้งที่ 7 ประจำปี 2558 จัดโดยสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดแห่งประเทศไทย เพื่อกระตุ้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการกว่า 200 คน ให้สนใจและตระหนักถึงบทบาทในการป้องกันดูแลรักษาทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บูรณาการดูแลรักษาและป้องกันเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิดแบบองค์รวม ให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ มีการเฝ้าระวัง ติดตาม และรักษาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเผยว่ามีเด็กพิการแต่กำเนิดเฉลี่ยปีละ 8 ล้านคนทั่วโลก มีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละ 20 - 30 สำหรับประเทศไทยมีเด็กพิการแต่กำเนิด 24,000 - 40,000 ราย และมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 21 โดยเด็กที่รอดชีวิตมักมีความพิการไปตลอดชีวิต ซึ่งความพิการที่พบได้บ่อย 5 อันดับแรกคือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หลอดประสาทไม่ปิด ภาวะแขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขมอบให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นแกนหลักในการดำเนินการร่วมกับสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) จดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ในห้องคลอด จัดตั้งคลินิกความพิการแต่กำเนิดในโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการนำร่องในโรงพยาบาล 22 จังหวัดและจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการดูแลรักษาแบบองค์รวม ส่วนการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ทำได้โดยการให้วิตามินโฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพื่อช่วยสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์และพัฒนาการของทารกและป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้เกือบทั้งหมด ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ
ทางด้าน ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิงพรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ 8 แห่ง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังและตัดสินใจทางนโยบายที่จะนำไปสู่การป้องกัน ดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลการดำเนินการในระยะแรก พ.ศ.2554 – 2557 ประสบความสำเร็จดีมาก จดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดแบบออนไลน์ได้ใน 22 โรงพยาบาลจังหวัดนำร่อง และได้สร้าง 11 อำเภอต้นแบบนำร่อง และเร่งขับเคลื่อนในระยะที่ 2 พ.ศ.2558-2560 เพิ่มโรงพยาบาลจังหวัดนำร่องเป็น 26 แห่ง และ 26 อำเภอต้นแบบนำร่อง พร้อมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามิน โฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์ก่อนตั้งครรภ์
*********************** 12 พฤศจิกายน 2558