รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐอาร์เจนตินา มุ่งเน้นความร่วมมือด้านวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยาที่จำเป็น นอกจากนี้ สมาคมธุรกิจยาของอาร์เจนตินาได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เพื่อปรึกษาแนวทางในการสนับสนุนการเข้าถึงยาที่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่มีการบังคับใช้สิทธิในประเทศไทย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นครบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับนายแพทย์กิเนส กอนซาเลส การ์เซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอาร์เจนตินา โดยข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยาที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ประเทศอาร์เจนตินามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคล้ายกับของไทย แต่เริ่มมานานกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย อีวิตา เปรอง ซึ่งก็มีปัญหาในการเข้าถึงยาเหมือนของเรา รัฐบาลได้บังคับให้แพทย์ทุกคนต้องสั่งยาด้วยชื่อสามัญ ห้ามใช้ชื่อทางการค้า ทำให้อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอาร์เจนตินาเข้มแข็ง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่ายานำเข้า ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศอาร์เจนตินามียาที่ติดสิทธิบัตรน้อยมาก เพราะเพิ่งจะแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยา เมื่อปี 2543 ตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก ซึ่งต่างจากประเทศไทย ที่แก้ไขไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ พ.ศ.2535 ก่อนข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลกถึง 8 ปี ทำให้ปัจจุบันมียาที่ติดสิทธิบัตรในประเทศไทยกว่าร้อยตัว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า เราถูกประเทศร่ำรวยข่มขู่มาตลอดและต้องทำตามทุกอย่าง ต้องแก้กฎหมายก่อนเส้นตายถึง 8 ปี เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายทั้งภายในประเทศและกฎหมายขององค์การการค้าโลก เพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อย ก็กลับถูกกดดันต่างๆ นานา เท่ากับมัดมือมัดเท้ารัฐบาลไม่ให้ใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่ประเทศอาร์เจนตินาเป็นอิสระในการดำเนินการด้านนี้ และยังไม่ต้องใช้การบังคับใช้สิทธิ อย่างเช่น ยาเอฟาวิเรนซ์ ที่เราบังคับใช้สิทธิไปแล้ว ก็เป็นยาที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศอาร์เจนตินา เขาจึงผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญในราคาต่ำได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็คงจะต้องประสบปัญหาแบบเดียวกับไทยและบราซิล ด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สมาคมผู้ประกอบธุรกิจยาของอาร์เจนตินา ซึ่งมีสมาชิกเป็นโรงงานยาขนาดใหญ่ ผลิตยาชื่อสามัญมูลค่าถึงปีละสองพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการส่งออกถึงห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ มีความสนใจตลาดยาของไทยมาก และได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทย เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับลู่ทางในการร่วมมือกัน เพื่อช่วยให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้เข้าถึงยาจำเป็นได้มากขึ้น โดยมีความสนใจที่จะเข้ามาจดทะเบียนและนำยาชื่อสามัญที่ผลิตได้มาจำหน่ายในไทย โดยเฉพาะยาที่ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิไปแล้วทั้งสามตัว ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการการขึ้นทะเบียนยาในไทย โดยเฉพาะถ้าไม่มีผู้แทนในไทย องค์การเภสัชกรรมยินดีจะเป็นผู้แทนให้ หากการดำเนินการประสบความสำเร็จ เราก็จะมีทางเลือกในการจัดหายาชื่อสามัญที่เรายังผลิตไม่ได้มากขึ้น ซึ่งทางบริษัทกำลังพิจารณาส่งตัวแทนเข้ามาเจรจากับเราในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ ประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีกว่าไทยเล็กน้อย และนับเป็นประเทศที่มีบทบาทและบารมีในทางการเมืองระหว่างประเทศ ในหมู่ประเทศละตินอเมริกาสูงมาก โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เห็นได้จากการที่ผู้แทนจากประเทศอาร์เจนตินาคือ แพทย์หญิงเมอทาร์ โรส ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกา โดยได้คะแนนชนะผู้แทนจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า และมีประเทศใหญ่และทรงอิทธิพลหนุนหลังอยู่ และในการเลือกตั้งสมัยที่สองในเดือนตุลาคมนี้ ก็ไม่มีคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ เลย ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศอาร์เจนตินา เป็นประเทศต้นแบบแห่งหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมในทุกๆ ด้าน แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จทั้งหมด แต่ก็มีบทเรียนทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่ไทยจะสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ************************************** 16 สิงหาคม 2550


   
   


View 9    16/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ