โฆษกระทรวงสาธารณสุข แจงข่าวสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ไม่ได้เบี้ยวจ่ายเงินค่าน้ำมันรถ อสม.ฉีดสารเคมีพ่นฆ่ายุงลาย ที่ ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ส่วนการเรียกเก็บเงินค่าพ่นยุงลาย 10-20 บาทต่อหลังเป็นมาตรการพิเศษของคณะกรมการหมู่บ้านเขาคราม เพื่อต้องการให้ชุมชนพึ่งตนเอง ชาวบ้านมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จากกรณีที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ โวยไม่มีเงินเติมน้ำมันรถเพื่อใช้ออกฉีดสารเคมีพ่นฆ่ายุงลาย รวมทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำมันใส่เครื่องพ่นยา โดยระบุว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่เลย ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง รวมทั้ง อสม.ยังถูกชาวบ้านร้องเรียน เพราะเรียกเก็บเงินตามบ้านเรือนที่เข้าฉีดพ่นยา หลังละ 10-20 บาท หรือตามแต่ชาวบ้านจะให้ เพื่อนำเงินมาเติมน้ำมันรถ น้ำมันเครื่องพ่นและค่าอาหาร ให้อสม.ที่ปฏิบัติงานในวันนั้นๆ ตามที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนนั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ปรากฏว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของ อสม. โดยตามหลักการการแก้ไขควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นเจ้าภาพหลัก และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ในปีนี้ทั่วโลกเผชิญปัญหาโลกร้อนทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาด ไข่ยุงลายฟักตัวเป็นยุงเร็วขึ้นกว่าปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดหรือวอร์รูมทุกจังหวัด และขอความร่วมมือพลังของอสม.ทั่วประเทศ 8 แสนกว่าคน ให้ช่วยกันรณรงค์ชาวบ้านทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง และหากพื้นที่ใดมีการระบาดคือพบผู้ป่วยในหมู่บ้าน จะมีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่ เพื่อไม่ให้วางไข่หรือไม่ให้ไปกัดประชาชนคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งโดยทั่วไปยุงลายจะสามารถบินได้ไกลในรัศมี 50 เมตร นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการพ่นสารเคมี โดยทั่วไปดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การทำงานแบบอาสาสมัคร โดยไม่มีค่าแรงในการพ่น แต่เจ้าหน้าที่จะดูแลรับผิดชอบค่าอาหารและค่ายานพาหนะเป็นการตอบแทน และการทำงานแบบจ้างเหมา ในอัตรา 178 บาทต่อวัน หรือ 5 บาทต่อหลังคาเรือน ซึ่งครอบคลุมค่าอาหารและค่ายานพาหนะอยู่แล้ว ทั้งนี้ปัญหางบประมาณดำเนินการของพื้นที่ตำบลเขาครามที่ล่าช้า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ตรวจสอบแก้ไขเป็นการด่วนแล้ว ด้านนายแพทย์วีรพล นิธิพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในรอบ 7 เดือนปีนี้ จังหวัดกระบี่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 138 ราย ไม่มีเสียชีวิต ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวในเรื่องนี้มาก และอสม.ก็เป็นพลังสำคัญที่เข้มแข็งมากในการแก้ไขปัญหา แต่เหตุที่เกิดขึ้นที่ ต.เขาคราม ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าพ่นจากบ้านต่างๆ ราคา 10-20 บาทนั้น จากการตรวจสอบที่สถานีอนามัยเขาครามพบว่า เป็นการดำเนินการรูปแบบพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจ่ายเงินสมทบแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อมุ่งหวังให้ชุมชนมีการพึ่งตนเอง ไม่ต้องหวังรองบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งอาจได้รับล่าช้าไม่ทันการแก้ไขปัญหา จึงได้กำหนดให้บ้านทุกหลังต้องจ่ายเงิน เหมือนกับการเก็บค่าขยะของท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและน่าชื่นชมมาก แต่เรื่องนี้อาจใหม่เกินไป ทำให้ อสม.บางคนอาจยังไม่เข้าใจ ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านได้รับทราบมาตรการของหมู่บ้าน รวมทั้งชี้แจงอาสาสมัครสาธารณสุขแล้ว ************************************ 16 สิงหาคม 2550


   
   


View 10    16/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ