กระทรวงสาธารณสุข เรียกประชุมเจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมป้องกันและหน่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด เพื่อปรับมาตรการแก้ไขปัญหาเข้มข้นใน 12 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดหนัก ขณะที่มียาเสพติดน้องใหม่หลายตัว กำลังมาแรงควบคู่ยาบ้า ตั้งเป้าบำบัดฟรี ผู้เสพติดที่สมัครใจให้ได้ปีนี้ 20,000 ราย คาดขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1 แสนคน วันนี้ (21 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมพาวิลเลี่ยน ควีนส์ เบย์รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ แพทย์หญิงศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหาร นักวิชาการ จากกรมวิชาการต่างๆ และกทม. รวมทั้งหัวหน้างานป้องกันยาเสพติดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หัวหน้างานบำบัดยาเสพติดของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวม 200 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและวางแผนมาตรการความพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ตามแผนเร่งรัดแก้ไขป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 3 เดือน ในปี 2550 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม ภายใต้ปฏิบัติการ รวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งเน้นความเข้มข้นไปยังพื้นที่พิเศษที่มีการระบาดหนักของยาเสพติด 12 จังหวัดได้แก่ แพร่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ สตูล เชียงใหม่ และตาก แพทย์หญิงศรีวรรณากล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปีนี้ มีแนวโน้มการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น โดยตัวยาที่แพร่ระบาดมากที่สุด 5 อันดับแรกในขณะนี้คือยาบ้า ร้อยละ 72 รองลงมาคือ กัญชาร้อยละ 34 สารระเหยร้อยละ 8 นอกจากนั้นยังมียาเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิง ได้แก่ ยาไอซ์ เอ็กซ์ตาซี่ โคเคน มีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ มากที่สุดที่เขตกทม. จังหวัดปริมณฑล และแถบอำเภอเมืองของจังหวัดใหญ่ พบมากถึง 2 ใน 3 ของการระบาดทั้งหมด โดยสารระเหย เช่น กาว ทินเนอร์ พบมีการระบาดเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พืชกระท่อมแพร่ระบาดมากขึ้นในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้สารเสพติด คาดว่าในปี 2550 นี้ มีผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 1 แสนคน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 มีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 30,311 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 14,780 ราย อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าที่จะให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ที่เสพหรือติดยาเสพติด และสมัครใจเข้าบำบัดให้ได้ภายในสิ้นปี 20,000 ราย แพทย์หญิงศรีวรรณากล่าวต่อว่า ในการบำบัดผู้เสพหรือติดเสพยาเสพติดให้ได้ผลนั้น ในปีนี้จะเน้นหนักให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประสานงานใกล้ชิดกับพลังแผ่นดินในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนและครอบครัวผู้ที่ใช้สารเสพติด เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดไม่หวนกลับไปใช้ยาอีก ซึ่งจะทำให้ปัญหาในพื้นที่เบาบางลง โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบการบำบัดให้สามารถบำบัดได้ใกล้บ้านที่สุด คือที่สถานีอนามัย หรือที่คลินิกยาเสพติดของโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัด ทุกอำเภอและทุกจังหวัดฟรี รักษาแบบไป-กลับ ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล ใช้เวลาติดตามอาการประมาณ 4 เดือน เพื่อให้กำลังใจผู้ผ่านการบำบัดแล้วให้สามารถเลิกเสพยาได้อย่างเด็ดขาด ************************** 21 สิงหาคม 2550


   
   


View 9    21/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ