กระทรวงสาธารณสุขเผยโรคเบาหวานทำให้สุขภาวะผู้หญิงลดลงเป็นอันดับ 1 จาก 10 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหตุจากน้ำหนักเกินจับมือโรงเรียนแพทย์ปรับหลักสูตรการสอน เน้นปรับพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้
วันนี้ (18 ธันวาคม2558) ที่อาคารศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับเบาหวานว่าสหประชาชาติได้กำหนด 9 เป้าหมายควบคุมโรคไม่ติดต่อโดยเน้นลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้อยละ 25 ภายในปี 2568 ซึ่งโรคเบาหวานและโรคอ้วนเป็นหนึ่งในค่าเป้าหมายไม่เพิ่มขึ้นส่วนองค์การอนามัยโลกเน้นการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเน้นหนัก 4 กลุ่มโรคได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคมะเร็งโรคเบาหวานและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
สำหรับประเทศไทย โรคเบาหวานถือเป็นปัญหาสุขภาวะ โดยในผู้หญิงพบเป็นสาเหตุอันดับ 1 และผู้ชายพบเป็นสาเหตุอับดับ 7 จาก 10 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังส่งผลกระทบต่อร่างกายจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัวรวมทั้งรายได้เศรษฐกิจของประชาชนด้วยจากการสำรวจอัตราตายโรคเบาหวานตั้งแต่พ.ศ.2550-2557 มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งสอดคล้องกับอัตราป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันนอกจากนี้เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยสำรวจภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในปีพ.ศ.2556-2558 พบมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ 4 โรคได้แก่หลอดเลือดสมองหัวใจตาและไตซึ่งมีอัตราแทรกซ้อนสูงเป็นผลจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี
กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคเบาหวานโดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงไปถึงกลุ่มที่มีภาวะดื้ออินซูลินตั้งเป้าหมายดังนี้ลดอัตราป่วยรายใหม่, ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี, เลิกสูบบุหรี่ได้, ได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน, ได้รับการประเมินความเสี่ยงและมีภาวะแทรกซ้อนและความพิการลดลงใน 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มปกติกลุ่มเสี่ยงจะไม่ให้ป่วยใช้แผนพัฒนาสุขภาพกลุ่มวัย5 กลุ่มวัยได้แก่หญิงตั้งครรภ์เด็กวัยรุ่นวัยทำงานและผู้สูงอายุให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเช่นลดการบริโภคน้ำตาลเพิ่มการออกกำลังกาย 2.กลุ่มป่วยจะมีการคัดกรองตรวจตั้งแต่เริ่มแรกรู้ผลและรักษาได้รวดเร็วใช้แผนพัฒนาคุณภาพระบบบริการและเชื่อมโยงบูรณาการกับระบบสุขภาพสาขาอื่นๆเช่นหลอดเลือดสมองตาไตเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและ 3.กลุ่มพิการหรือรายที่ซับซ้อนจะดำเนินงานผ่านเขตสุขภาพ พื้นที่ระดับจังหวัดอำเภอตำบล โดยบูรณาการผ่านระบบสุขภาพอำเภอตำบลจัดการสุขภาพซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขและทีมหมอครอบครัวดูแลเพื่อให้คนในครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยได้เอง
ทั้งนี้ จะร่วมกับโรงเรียนแพทย์พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานให้ควบคุมอาการได้จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รวมถึงกำหนดตัวอย่างหรือต้นแบบที่ดีเพื่อลดภาวะน้ำหนักเกินเช่นการตั้งคลินิกNCD ก็จะสามารถลดการเพิ่มของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้เช่นกัน
************************* 18 ธันวาคม 2558