“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยอภิปราย 3 เรื่องสำคัญในเวทีเตรียมการสำหรับการจัดสรรงบกองทุนโลกรอบที่ 5 ที่ประเทศญี่ปุ่น ชี้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นเป้าหมายของการขจัดความยากจน เตรียมแผนรองรับในการจัดหางบประมาณต่อสู้เอดส์ วัณโรค และมาลาเรียเมื่อสิ้นสุดการสนับสนุนจากกองทุนโลก พร้อมร่วมมือโครงการของภูมิภาค เพื่อจัดการปัญหา 3 โรคตามแนวชายแดนในระยะ 5 ปีต่อไป
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ร่วมการอภิปรายเรื่องการเงินการคลังที่ยั่งยืนสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับผู้นำระดับโลกเช่น พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกในการประชุมเตรียมการสำหรับการจัดสรรงบกองทุนโลกรอบที่ 5 (Preparatory Meeting for the Global Fund’s Fifth Voluntary Replenishment 2017-2019) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ตอบประเด็นคำถามสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.ความสำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพต่อประเทศไทย 2.การเตรียมการของไทยเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากการสนับสนุนของกองทุนโลก และ3.การทำงานเป็นหุ้นส่วนกับกองทุนโลก
รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เหตุผลหลักที่ทำให้การสร้างหลักประกันสุขภาพมีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญไทย และมีเป้าหมายเพื่อการมีสุขภาพดีให้กับประชาชนทุกคน นอกจากนี้ การมีสุขภาพดีจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและยังช่วยขจัดความยากจนของประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกจากเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ยังช่วยขจัดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลของประชาชนด้วย
สำหรับการเตรียมการของไทยเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากการสนับสนุนของกองทุนโลก นั้นไทยได้มีการเตรียมการมานานแล้วจากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกมาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งความร่วมมือของท้องถิ่น และความสำเร็จของการบรรจุการรักษาและป้องกัน 3 โรคนี้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อีกทั้งไทยได้เตรียมแผนในระยะเปลี่ยนผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกไว้ โดยคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้เตรียมการด้านการเงินในการจัดการปัญหาครอบคลุมทั้ง 3 โรค ใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งการจัดบริการกลุ่มประชาการเสี่ยง เช่น กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แรงงานข้ามชาติ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับกองทุนโลก โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคเพื่อยุติโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียตามแนวชายแดน และยินดีบริจาคให้กองทุนโลก ทั้งในด้านเงินและการให้ความช่วยเหลือ (In cash and in kind contributions) เช่นเดิม และขอให้มีความร่วมมือระหว่างไทยกับกองทุนโลกในการจัดทำการทบทวนและรวบรวมประสบการณ์ช่วงการเปลี่ยนผ่านของไทย (Transitioning process) และร่วมตั้งเครือข่ายประเทศที่กำลังทำการเปลี่ยนผ่าน (Networks of Countries in Transition) ในภูมิภาคอีกด้วย