กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกช่วงฤดูหนาวยังน่าห่วง พบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนต่อสัปดาห์ ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูการระบาด หวั่นเกิดระบาดเช่นเดียวกับปี 2556 ขอประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เร่งรัดกำจัดยุงและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน และชุมชนต่อเนื่องทุก 7 วัน ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือไม่เกิน 500 รายต่อสัปดาห์ ป้องกันการระบาดในปี 2559
 
นายแพทย์โสภณ เมฆธนปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกขณะนี้ แนวโน้มดีกว่าเดิมแล้ว พบผู้ป่วยลดลงจาก 20,000 กว่าคนในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 5,000 กว่าคนใน 3 สัปดาห์ของเดือนธันวาคม เฉลี่ย 1,000 กว่าคนต่อสัปดาห์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทุกกระทรวงเข้าไปแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่ลดลงยังไม่ใช่ระดับที่พอใจ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาวไม่ใช่ฤดูการระบาด จำนวนผู้ป่วยควรจะลดลงเหลือไม่เกิน 500 รายต่อสัปดาห์
 
ได้สั่งการให้สำนักงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดรณรงค์กำจัดยุงและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รณรงค์ลูกบ้าน ร่วมกันกำจัดลูกน้ำภายในบ้านและรอบๆบ้านของผู้ป่วย รวมทั้งวัด โรงเรียน หรือบ้านเรือนใกล้เคียง ที่อยู่ในรัศมี 10 หลังคาเรือนของบ้านผู้ป่วยด้วย เพื่อป้องกันการเกิดระบาดในปี 2559 ตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค ที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยได้มากถึง 160,000 คน จำนวนผู้ป่วยมากพอๆกับการระบาดในปี 2556 ที่ผ่านมา
 
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2559 ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก จะเร่งรัดรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคตั้งแต่ต้นปีและทำอย่างต่อเนื่องตลอดปี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดทุกปี ในลักษณะการระดมความร่วมมือ เนื่องจากพื้นที่การระบาดส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ประชากรหนาแน่น มีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ ทั้งนี้ ในช่วงฤดูหนาวนี้เป็นช่วงเวลาทองหรือโกลเด้น พีเรียด (Golden Period) ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย หากดำเนินการได้ดีจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงฤดูการระบาดได้ผล
 
 ข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วย สะสม 138749 ราย เสียชีวิต 139 ราย  จังหวัดที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด 10 จังหวัด คือ เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี อุทัยธานี จันทบุรี ปราจีนบุรี ตราด ตาก อ่างทอง และกรุงเทพมหานครที่พบผู้ป่วยสูงสุด 25,000 กว่าคน  ขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือน ทุกชุมชน กำจัดลูกน้ำยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รอบๆบริเวณบ้านทุก 7 วัน  ดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะและทิ้งขยะลงในถังขยะ กำจัดขยะให้ถูกวิธี   โดยเฉพาะขยะจำพวกกล่องโฟม ขวดน้ำ แก้วน้ำพลาสติก ให้แยกใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้มิดชิด อย่าทิ้งลงพื้น ข้างทาง หรือแม่น้ำลำคลอง เพราะจะกลายเป็นแหล่งน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อไปได้   
   
********************************  29 ธันวาคม 2558


   
   


View 12    29/12/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ