กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงวันฉลองเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2558 วันที่ 31 ธันวาคม-1 มกราคม เพียง 2วัน พบผู้บาดเจ็บจากจราจรกว่า 9,000 คน คิดเป็นเกือบครึ่งของผู้บาดเจ็บทั้งหมดของช่วง 7 วันอันตร
วันนี้ (31ธันวาคม2558) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบริการประชาชน พร้อมติดตามความพร้อมในการรองรับผู้บาดเจ็บจากการจราจร ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 และให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2558 มีผู้บาดเจ็บจากจราจรเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล 23,825 คน เฉพาะในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่(Count down) 31 ธันวาคม–1 มกราคม เพียง 2 วันมีผู้บาดเจ็บกว่า 9,000 คน คิดเป็นเกือบครึ่งของผู้บาดเจ็บทั้งหมดของช่วง 7 วันอันตราย ในจำนวนนี้บาดเจ็บนอนสาหัสต้องพักรักษาในโรงพยาบาล 1,266 คน เฉลี่ย 663 คนต่อวัน เสียชีวิต 131ราย เฉลี่ย 66 รายต่อวัน สาเหตุประชาชนเฉลิมฉลอง เมาแล้วขับ
สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและพิการจากจราจร ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู สำรองเตียงรับผู้ป่วยและคลังเลือดเพิ่มขึ้น จัดช่องทางด่วนรับผู้บาดเจ็บจากการจราจร รวมทั้งจัดระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ประชาชนประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรขอความช่วยเหลือสายด่วน1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้อง ถึงโรงพยาบาลได้รับการรักษารวดเร็ว ขณะนี้ทั่วประเทศมีทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 14,441 ทีม มีนักปฏิบัติการฉุกเฉินกว่า 160,000 คน นอกจากนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขร่วมตั้งด่านชุมชน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมาสุรา ขับรถเร็ว รวมทั้งออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด ไม่ขายในสถานที่ห้ามขาย ไม่ขายนอกเวลากำหนด รวมทั้งไม่ขายให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี
สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเส้นทางหลักการเดินทางไปยังภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และมีศาสนสถาน โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้เตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉินไว้แล้ว ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และสิ่งสนับสนุนต่างๆ โดยที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ได้เพิ่มทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุ ศัลยกรรมทั่วไป และศัลยกรรมกระดูก สำรองเตียงผู้ป่วย 20 เตียง และไอซียู 6 เตียง จัดเตรียมห้องผ่าตัด พร้อมทีมผ่าตัด พร้อมผ่าตัดฉุกเฉินได้ทันที 2 ห้อง เรียกทีมเสริมได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมสำรองเลือดครบทุกหมู่ 420 ยูนิตและส่วนประกอบของเลือดอีก 365 ยูนิต รวมทั้งได้จัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ประสานการทำงานกับศูนย์สั่งการโรงพยาบาลเครือข่ายทั้ง 16 อำเภอ มีทีมปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง 17 ทีม ระดับกลาง 17 ทีม และระดับต้น 30 ทีม นอกจากนี้ ได้ตั้งด่านชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมูลนิธิต่างๆ ด้วย
ธันวาคม 3/7 ************************** 31 ธันวาคม 2558