กระทรวงสาธารณสุขเผยความคืบหน้าเหตุลูกเรือประมงเสียชีวิต 6 คน ป่วย 25 คน ยังนอนรักษาตัว ที่รพ.ระนอง 5 คน เดินทางกลับเรือได้แล้ว 20 คน ผลชันสูตรศพเบื้องต้นเกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือโรคเหน็บชา ชี้ป้องกันได้โดยเตรียมอาหารเสริม จำพวกข้าวซ้อมมือ อาหารธัญพืชทดแทน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีลูกเรือประมงเสียชีวิต 6 คน ระหว่างออกเรือหาปลาในคาบสมุทรอินเดีย และมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ 25คน ว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง ขณะนี้ทีมสอบสวนโรค จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง
โรงพยาบาลระนอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบว่าเบื้องต้นอาการของ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเข้าได้กับภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือโรคเหน็บชา ไม่พบข้อบ่งชี้ว่าเป็นการระบาดของโรคติดเชื้อแต่อย่างใด ได้เก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการฉีดวิตามินบี 1 เพื่อยืนยันภาวะขาดวิตามินบี 1 ส่งตรวจที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย คาดทราบผลใน 3 วัน เก็บตัวอย่างอาหารและน้ำบนเรือที่มีผู้เสียชีวิต 2 ลำ เพื่อส่งตรวจหาสารพิษที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฏร์ธานี ทั้งหมด 18 ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำละลายในตู้แช่แข็ง วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร ยาเส้น และยาชุด ซึ่งจะทราบผลได้ใน 2-3 สัปดาห์ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่มีผู้ประกอบการประมง ประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในจังหวัด ให้เตรียมพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยจัดเตรียมอาหารเสริมที่ทดแทนวิตามินบี 1 เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชอาทิ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ เป็นต้น นำขึ้นเรือไปด้วย
ด้านนายแพทย์ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า ผลการตรวจร่างกายลูกเรือเบื้องต้น 6 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 115 คน เป็นชาวไทย 64 คน กัมพูชา 45 คน และเมียนมาร์ 6 คน โดยมีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็นคนไทย 1 คน กัมพูชา 5 คน ซึ่งรายแรกเสียชีวิตเมื่อ 26 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา รายล่าสุดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13มกราคม 2559 ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอาการแขนขาอ่อนแรง บวม ชาบริเวณแขนขา แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก บางรายมีอาการหอบเหนื่อย ทุกรายมีอาการก่อนเสียชีวิตประมาณ 2-7 วัน สำหรับผู้ป่วย 25 ราย พบมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ บวม ชา ตะคริว เหนื่อย แน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก
****************** 14 มกราคม 2559
View 15
14/01/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ