รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมาพันธ์นักเภสัชวิทยาแห่งเอเชียและแปซิฟิก 9 ประเทศสมาชิก คือ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และไทย สร้างความมั่นคงด้านยา เน้นการพัฒนายาสมุนไพรให้ใช้ได้จริงในตลาดสากล
 
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2559) ที่ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการของสมาพันธ์นักเภสัชวิทยาแห่งเอเชียและแปซิฟิก “Asia Pacific Federation of Pharmacologists (APFP)” ครั้งที่ 13 เป็นเวทีเสนอผลงานวิชาการ ให้นักวิชาการเพิ่มพูนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในสาขาเภสัชวิทยา รวมทั้งกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและสร้างเครือข่ายงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน จากสมาชิก 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และไทย
 
         ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า บทบาทของเภสัชวิทยา มีส่วนสำคัญในการค้นพบยาและการวิจัยพัฒนาโรคต่างๆ ที่เป็นปัญหาในระบบสุขภาพของสาธารณสุข รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมด้านเภสัชวิทยาใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการประชุมวิชาการของสมาพันธ์นักเภสัชวิทยาแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นการสร้างความแข็งแกร่งและความร่วมมือในสาขาเภสัชวิทยาระหว่างภูมิภาค ให้เกิดความมั่นคงด้านยา หัวข้อที่เน้นหนักในการประชุมครั้งนี้ คือการพัฒนายาสมุนไพรให้ใช้ได้จริงในตลาดสากล สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ที่เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและการแพทย์แผนไทยให้มีคุณภาพครบวงจรและเกิดผลดีต่อประเทศ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาสมุนไพรให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดอาเซียน เพิ่มการส่งออก พัฒนาให้เป็นที่นิยมติดตลาด สามารถใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เสริมสร้างเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งปัจจุบันการรักษาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
 
       นอกจากนี้ ได้ผลักดันการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพ โดยเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับคลินิกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 70 รวมทั้งบรรจุยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 85 รายการ เป็นทางเลือกให้ประชาชนเลือกใช้เมื่อเจ็บป่วย โดยข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการดูแลรักษาตัวเองด้วยแพทย์แผนไทยของครัวเรือน ปี 2556 พบว่า ประชาชนร้อยละ 21.9 รู้จักและเคยใช้สมุนไพร โดยตัดสินใจใช้เมื่อมีอาการป่วยเล็กน้อยร้อยละ 82.2 โรคที่เจ็บป่วยและใช้สมุนไพร มากที่สุด 5 อันดับ คือ โรคระบบกล้ามเนื้อ/กระดูก ระบบทางเดินหายใจ/หอบหืด ไข้หวัด โรคท้องเสีย/ท้องเดิน โรคระบบทางเดินอาหาร/กระเพาะอาหาร 
 
      ด้านศ.ดร. เกศรา ณ บางช้าง นายกสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกในพ.ศ. 2528 และปีนี้ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เพื่อให้อาจารย์ นักวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชนในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก นำเสนอผลงานวิจัยและเผยแพร่ความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาเภสัชวิทยา ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปี โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นผู้จัดประชุม ในปีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาสมุนไพรสู่ตลาด การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในคน ยาต้านเอชไอวี ยาโรคมะเร็งท่อน้ำดี แนวทางการศึกษาเภสัชวิทยา เป็นต้น
 
 
******************************** 1 กุมภาพันธ์ 59


   
   


View 15    01/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ