กระทรวงสาธารณสุข ยันยังไม่พบคนไทยโดนกัดหรือได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงิน หรือหมึกบลูริง แนะหากพบเห็นไม่ควรซื้อมารับประทาน ชี้อาการคนทีถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
(วันนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2559) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ที่มีข่าวผู้บริโภคพบปลาหมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) วางปะปนอยู่บริเวณโซนอาหารทะเลและของสด ภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดยโสธร แล้วแชร์ในสื่อต่างๆ พบว่าเป็นหมึกที่มีพิษร้ายแรงนั้น ว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธรว่า ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วโดยยังไม่ได้นำมาวางขายแต่อย่างใด โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดแยกของห้าง โดยพบก่อนแล้วได้นำไปให้ประมงจังหวัดตรวจสอบแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 2 วันจะทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร โดยคาดว่าอาจจะติดมากับอวนลากของชาวประมง อย่างไรก็ตามได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงตรวจสอบแผงอาหารทะเลทุกแห่งโดยไม่พบอาหารทะเลที่มีพิษแต่อย่างใด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับปลาหมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง ไม่นิยมนํามารับประทาน จึงไม่เคยพบรายงานว่ามีบุคคลทีกินเข้าไปแล้วเกิดอันตราย ซึ่งตามปกติแล้ว ต่อมพิษของหมึกชนิดนี้จะอยู่ที่ปาก ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ทีได้รับพิษนั้นเกิดจากการถูกกัดเท่านั้น โดยโอกาสที่จะนํามาแล่ขายไม่มี อย่างไรก็ตาม พิษของหมึกชนิดนี้จะไม่สลายเมื่อถูกความร้อน หากนําไปปรุงอาหารจนสุก แล้วรับประทานเข้าไป ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ หากใครพบเห็น ไม่ควรซื้อมารับประทาน หลีกเลี่ยงไว้ก่อนจะดีทีสุด โดยขณะนี้ยังไม่พบว่ามีคนไทยโดนกัดและได้รับพิษจากหมึกชนิดนี้ โอกาสที่จะโดนกัดคือเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงแล้วนํามาเล่น หรือตกหมึกได้แล้วไม่รู้ แต่ไม่เคยมีรายงานว่ามีใครโดนหมึกชนิดนี้กัดในประเทศไทย กรมประมงห้ามนําเข้าหมึกสายวงน้ำเงิน เป็นสัตว์เลี้ยงมาระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า Tetrodotoxin (TTX) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมอง คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออกเนื่องจาก กล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน ทําให้ไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศ นานเกินไปจนสมองตาย
*************************************** 23 กุมภาพันธ์ 2559
View 21
23/02/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ