กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ทำงานกลางแจ้งช่วงฤดูร้อน ระวังโรคลมแดด อันตรายถึงเสียชีวิต หากเลี่ยงไม่ได้ แนะดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร สังเกตหากตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ  อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว  ให้รีบเข้าที่ร่มทันที  พร้อมระบายความร้อนในร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว แช่ตัวในน้ำ ฉีดพรมน้ำแล้วเป่าด้วยลม ประคบน้ำแข็ง  จิบน้ำบ่อยๆ หากชักหรือหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669


นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน้าร้อนปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า กลางเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดอาจสูง 43-44 องศาเซลเซียส  โดยโรคที่เกิดจากอากาศร้อนที่พบบ่อยและเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตคือ โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง เกิดจากการอยู่หรือออกกำลังกายหรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้  มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาทส่งผลทำให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวได้


ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2446-2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดรวม 196 ราย  เฉพาะช่วงเดือนมีนาคม- เมษายน พ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิตจากลมแดด 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุมากกว่า 60 ปี รองลงมาผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้มีโรคประจำตัวและดื่มสุรา  โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาที่ทำงานและในรถยนต์ ส่วน พ.ศ.2556-2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต 25, 28 และ 41 รายตามลำดับ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ให้ความรู้ คำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคลมแดดให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่นออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร  2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ  3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน  5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียล ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้  หากพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น  น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทรสายด่วน 1669


สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่น  ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง  ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกบ้านในวันที่อากาศร้อน  เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ดูแลไม่ให้เด็ก ผู้สูงอายุ อยู่กลางแดดหรือในรถที่จอดตากแดด  ผู้มีโรคเรื้อรังให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง


                                                                                 ************************************  7 มีนาคม  2559



   
   


View 18    07/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ