กระทรวงสาธารณสุข อบรมทีมวิทยากรสหวิชาชีพ เพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ปฎิบัติงานคลินิกชะลอไตเสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ประมาณ 8 ล้านคน เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอัตราการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

วันนี้ (31 มีนาคม 2559) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กทม. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรสหวิชาชีพ (ครู ก) เพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในคลินิกชะลอไตเสื่อม ประกอบด้วย อายุรแพทย์โรคไต แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลผู้รับผิดชอบคลินิกชะลอไตเสื่อม เภสัชกร นักโภชนากร นักกำหนดอาหาร นักกายภาพบำบัด สาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวนกว่า 200 คนทั่วประเทศ เพื่อนำความรู้ เทคนิค วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ถ่ายทอดให้กับทีมสหวิชาชีพในเขตสุขภาพ ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อหรือโรคเอ็นซีดี เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขได้คัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ให้เข้ารับการดูแลรักษาที่เอ็นซีดีคลินิก เพื่อดูแลป้องกันกลุ่มโรคนี้ให้ดีขึ้น โดยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรัง ที่พบมากขึ้นทั้งจำนวนคนป่วยและเงินงบประมาณที่ใช้ การตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม จึงเป็นจุดเริ่มต้น (entry point) เนื่องจากใช้องค์ความรู้และระบบบริการเป็นหลักการเดียวกับโรคเอ็นซีดี ที่บริการด้วยทีมสหวิชาชีพ ตั้งเป้าปี 2559 จัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงขึ้นไป ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรค เอ็นซีดี อื่นๆ
                นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานเริ่มจากคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงว่ามีการทำงานของไตในระดับใด โดยกลุ่มเป้าหมายคือ การทำงานของไต (e GFR.) อยู่ระดับ 3-4 ให้เข้ารับบริการที่คลินิกดูแลด้วยทีมสหวิชาชีพ มีพยาบาลแนะนำเรื่องโรคไตและการปฏิบัติทั่วๆไป นักโภชนาการแนะนำเรื่องการกินอาหาร นักกายภาพบำบัดแนะนำเรื่องการออกกำลังกาย เภสัชกรแนะนำเรื่องการใช้ยา แล้วพบแพทย์ โดยหวังให้มีการชะลอความเสื่อมของไตออกไปอีกเจ็ดปี ซึ่งจะประหยัดเงินงบประมาณค่ารักษากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามมีวิธีปฏิบัติชะลอไตเสื่อม 5 ข้อ คือ 1.ดื่มน้ำให้เพียงพอ 2.ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี 3.งดเหล้า บุหรี่   4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน
ด้านนพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายกรมการแพทย์รับผิดชอบพัฒนาบุคลากรสหวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานในคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD clinic) ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 8 ล้านคนให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งลดอัตราการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 7 หมื่นคนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ผู้ป่วยเหล่านี้มีอัตราเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูง คุณภาพชีวิตต่ำ ใช้งบประมาณดูแลรักษามากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
การอบรมครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ ความเข้าใจทั้งในเรื่องของนโยบาย ประเด็น เทคนิค และ วิธีการ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไปถ่ายทอดให้กับทีมสหวิชาชีพในเขตสุขภาพของตน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ******************** 31 มีนาคม 2559
 
 
 
 
 


   
   


View 19    31/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ