กระทรวงสาธารณสุข ชี้ อันตรายจากรังสียูวีในแสงแดด  เสี่ยงโรคกระจกตาอักเสบ ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อกระจกแนะหลีกเลี่ยงแดดช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ซึ่งปริมาณรังสีเข้มข้นสูง ถนอมสายตาด้วยการสวมหมวกปีกกว้างและแว่นกันแดด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดด มีทั้งคุณและโทษต่อสุขภาพ  ช่วยสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังและมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูก  ผลเสียคือทำอันตรายต่อผิวหนัง อาจไหม้เกรียม เหี่ยวย่น เป็นอันตรายต่อดวงตา หากได้รับรังสียูวีโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน  โดยผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นคือกระจกตาอักเสบ มีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง ตาแดง ระยะยาวเช่น ต้อเนื้อ ต้อลมหรือ ต้อกระจก ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 พบผู้ป่วยโรคตาทุกชนิดเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกกว่า 5.2 ล้านครั้ง และเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยในด้วยโรคตา เยื่อบุตา และกระจกตาอักเสบ จำนวนกว่า 30,000 คน โรคต้อกระจกและความผิดปกติของเลนส์อื่นๆอีกกว่า 200,000 คน

ดังนั้น เพื่อป้องกันดวงตาให้ปลอดภัยจากรังสียูวี ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร ชาวสวน ช่างก่อสร้าง ชาวประมง ผู้ขับขี่รถในช่วงแดดจัด รวมทั้งผู้ที่อาศัยใกล้แม่น้ำ ทะเลมีแสงแดดสะท้อนจากผิวน้ำ ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00 น.-14.00 น. ซึ่งมีปริมาณรังสีจะเข้มข้นและจะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน ถนอมสายตาด้วยการสวมหมวกที่มีปีกยื่นออกมาข้างหน้าและแว่นกันแดด โดยเลือกใช้แว่นที่สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลต สำหรับคนที่ใส่แว่นสายตาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นการป้องกันรังสีได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดด ในทุกๆจุดที่ไม่ได้อยู่ใต้เสื้อผ้าอย่างน้อย 15 – 30 นาทีก่อนออกไปเจอแสงแดด แม้ว่าจะเป็นวันที่มีเมฆมากก็ควรทาและทาทุกๆ ชั่วโมง ตามคำแนะนำบนฉลากหรือตามที่ต้องการ โดยเฉพาะหลังจากการว่ายน้ำหรือเหงื่อออก  สวมใส่เสื้อผ้าป้องกัน เป็นต้น

                                                                                      ************************   16 เมษายน 2559



   
   


View 15    16/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ