กระทรวงสาธารณสุข ชี้ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขนมจีนเป็นอาหารทั่วไปต้องมีสุขลักษณะที่ดีในการผลิตตามหลักเกณฑ์ จีเอ็มพีขั้นต้น และต้องแสดงฉลากให้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการสุ่มตรวจสอบขนมจีนที่วางจำหน่ายจำนวน 6 ยี่ห้อ พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน 1 ยี่ห้อ
ไม่ทราบแหล่งผลิตอยู่ระหว่างการสืบสวนและดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งกำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสุ่มตรวจสารกันบูดในขนมจีน ว่า ขนมจีนเป็นอาหารทั่วไปต้องมีสุขลักษณะที่ดีในการผลิตตามหลักเกณฑ์ จีเอ็มพี ขั้นต้น (Primary GMP) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องแสดงฉลากให้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 ที่ผู้ผลิตต้องระบุชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบที่สําคัญ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะวัตถุกันเสียจะต้องแจ้งไว้บนฉลากอย่างชัดเจน หากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากตรวจพบว่า มีการใช้วัตถุกันเสียในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ร่วมกับสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างของขนมจีนที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสีย (สารกันบูด) จำนวน 6 ยี่ห้อ พบการใช้วัตถุกันเสียเกินข้อกำหนดตามกฎหมายคือ เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จำนวน 1 ยี่ห้อ ไม่ทราบแหล่งผลิตอยู่ระหว่างการสืบสวนและดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับการควบคุมสุขลักษณะสถานที่ผลิต(จีเอ็มพี)ขั้นต้นกระทรวงสาธารณสุขได้ออกเป็นประกาศกระทรวงฯฉบับที่ 342 พ.ศ.2555 เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจําหน่าย เป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตขั้นต้น สําหรับกลุ่มอาหารพร้อมปรุงและอาหารสําเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีและกลุ่มอาหารทั่วไป ที่ยังไม่ได้ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 193 พ.ศ.2543 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ไม่รวมที่จําหน่าย โดยตรงต่อผู้บริโภค และไม่รวมที่ผลิตเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานแปรรูป ภัตตาคาร ร้านอาหาร
ข้อกําหนดของจีเอ็มพี ขั้นต้น มี 6 ข้อกําหนด ประกอบไปด้วย 1.สถานที่ตั้งและอาคารผลิต 2.เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต 3.การควบคุมกระบวนการผลิต 4.การสุขาภิบาล 5.การบํารุงรักษาและการทําความสะอาด และ6.บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน