กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกบริโภคผักผลไม้พื้นบ้านที่มีตามฤดูกาล ช่วยลดความเสี่ยงสารเคมีตกค้างอันตราย  หากไม่มั่นใจแนะนำวิธีล้างผักผลไม้ง่ายๆ สะดวก ประหยัด ด้วยการลอกเปลือกทิ้ง แช่น้ำ 10-15 นาที และล้างด้วยน้ำไหลผ่าน 2 นาที ชี้ช่วยลดสารเคมีที่เกาะติดตามผิวผักผลไม้ได้มากที่สุดถึง 92 เปอร์เซ็นต์

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวทางสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ซึ่งการสร้างความปลอดภัยอาหารจำเป็นต้องควบคุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือแหล่งผลิต/นำเข้าสินค้าเกษตร กลางน้ำคือค้าส่ง/ค้าปลีก และปลายน้ำคือร้านอาหาร/แผงลอย/ผู้บริโภค จึงจะก่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดทั้งวงจร ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบดูแลช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ได้เน้นการให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่าย ทั้งผู้ประกอบการค้าในตลาด ร้านอาหาร และประชาชน ให้มีความรู้ทั้งวิธีเลือกและรู้วิธีลดสารปนเปื้อนเหล่านั้น   

          ข้อแนะนำในการเลือกซื้อผักสดที่สะอาด ปลอดภัย มีดังนี้ 1.เลือกซื้อผักสดที่สะอาด ไม่มีคราบดินหรือคราบขาวของสารพิษกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อรา หรือกลิ่นฉุนผิดปกติ เลือกที่มีรูพรุนเป็นรอยกัดของหนอนแมลงอยู่บ้าง 2.เลือกซื้อผักสดอนามัยหรือผักกางมุ้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแหล่งเพาะปลูกที่เชื่อถือได้อื่นๆ และสับเปลี่ยนแหล่งซื้ออยู่เสมอ 3.เลือกกินผักตามฤดูกาล เนื่องจากผักที่ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาส เจริญเติบโตได้ดีกว่านอกฤดูกาล ทำให้ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยลง 4.เลือกกินผักพื้นบ้าน เช่น ผักแว่น ผักหวาน ผักติ้ว ผักกระโดน ใบย่านาง ใบเหลียง ใบยอ ผัก กระถิน ยอดแค หรือผักที่สามารถปลูกได้เองง่ายๆ และ6.ไม่กินผักชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลายชนิดสับเปลี่ยนกัน เพื่อได้รับประโยชน์ทางด้านโภชนาการ และหลีกเลี่ยงการรับพิษสะสม

          ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจว่าผักสดและผลไม้ที่ซื้อมาบริโภคปลอดภัยจากสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ หรือไม่ การล้างผักสดและผลไม้ที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดปริมาณการปนเปื้อนลงได้ วิธีที่ง่ายๆ สะดวก ประหยัดและเป็นวิธีการที่แนะนำได้แก่ การลอกเปลือกทิ้ง แช่น้ำ 10-15 นาที และล้างด้วยน้ำไหลผ่าน 2 นาที ซึ่งการศึกษาของกรมวิชาการเกษตร ระบุสามารถลดสารเคมีที่เกาะติดตามผิวผักผลไม้ได้มากที่สุดถึงร้อยละ 92

          นอกจากนี้ ยังมีวิธีใช้สารละลายอื่นๆ ในการล้าง ได้แก่  1.ใช้น้ำเกลือ ใช้เกลือ 2 ช้อนโต๊ะพูนต่อน้ำ 4 ลิตร  2.ใช้น้ำปูนคลอรีน โดยผสมผงปูนคลอรีน 1/2 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมน้ำสะอาด 20 ลิตร 3.ใช้น้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วยต่อน้ำ 4 ลิตร 4.ใช้น้ำโซดา นำโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร และ5.ใช้น้ำยาล้างผัก ตามวิธีที่ผู้ผลิตแนะนำ แล้วจึงนำผักสดมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง  ส่วนผักที่มีลักษณะเป็นหัว ผล หรือผลไม้ที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น ล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม 10-20 เกล็ด ผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ และหยดสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 20 หยด แช่นาน 5 นาที โดยใช้มือถูตามผิวของผล แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 1-2 ครั้ง ซึ่งวิธีการล้างต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการลดสารเคมีกลุ่มที่ไม่ดูดซึม ได้แก่ เมทธิลพาราไธออน มาลาไธออน ได้ตั้งแต่ร้อยละ 6-92   

     ************************************  6 พฤษภาคม 2559



   
   


View 17    06/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ