กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว สอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากรถทัวร์พลิกคว่ำที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ล่าสุดผู้บาดเจ็บ 15 คน นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 4 แห่ง ส่วนใหญ่มีบาดแผล กระดูกแขน ขาหัก บาดเจ็บ ที่ศีรษะ

บ่ายวันนี้ (23 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีรถโดยสาร 2 ชั้น เสียหลักตกถนนชนเสาไฟฟ้าที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเวลาประมาณ 03.15 น. วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 30 คน ว่า ได้รับรายงานจากศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1669 โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ว่า ขณะนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บรักษาใน 4 โรงพยาบาลรวม 15 คน ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า 7 คน ส่วนใหญ่กระดูกแขน ขา ข้อมือหัก ในจำนวนนี้ 1 คนได้รับการผ่าตัดช่องท้อง พักอยู่ในห้องไอซียู โรงพยาบาลเพชรรัตน์ 6 คน อยู่ในไอซียู 4 คน ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ กระดูกสันหลัง กระดูกคอ กระดูกเชิงกราน โรงพยาบาลราชบุรี 1 คน ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และโรงพยาบาลกรุงเทพ-เมืองเพชร 1 คน มีแผลที่มือ
 
 
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว หรือทีม SRRT จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี สอบสวนการบาดเจ็บครั้งนี้ เนื่องจากมีความรุนแรง และประเมินประสิทธิภาพการทำงานของทีมกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำไปวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งขณะเกิดเหตุดังกล่าว ทางศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1669 โรงพยาบาลพระจอมเกล้า เพชรบุรี ได้สั่งการทีมแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ภัย ระดมกำลังไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วทำให้สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที
 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่โดยสารรถสาธารณะ คาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งอยู่บนรถ เพื่อช่วยยึดร่างกายไม่ให้กระเด็นออกจากตัวรถหากเกิดอุบัติเหตุ ศึกษาการใช้ค้อนทุบกระจกประตูทางออกฉุกเฉิน และการใช้ ถังดับเพลิง เป็นต้น ขณะเดินทางควรสังเกตอาการของพนักงานขับรถ ถ้าหากพบว่ามึนเมา หาวบ่อย ขับรถเร็ว ควรเตือนหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ขนส่งตามจุดตรวจ เพื่อเตือนทันที รวมทั้งกรณีต้องเดินทางระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร ควรมีพนักงานขับรถ 2 คนผลัดเปลี่ยนกัน หากมีพนักงานขับรถคนเดียวต้องหยุดพัก ทุก 4 ชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 30 นาที เพื่อป้องกันการหลับใน. 

พฤษภาคม4/10 ********************************** 23 พฤษภาคม 2559


   
   


View 14    23/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ