กระทรวงสาธารณสุข ห่วงชมกีฬาฟุตบอลช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร หวั่นกระทบต่อสุขภาพและการทำงาน ล่าสุดมีข่าวมีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากการทำงานหนักแล้วดูบอลจนดึก แนะพักผ่อนให้เพียงพอ จัดเวลาดูให้เหมาะสมไม่กระทบกับการทำงาน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หากมีโรคประจำตัวต้องเคร่งครัดการกินยาต่อเนื่องและตรงเวลา เกิดเหตุฉุกเฉินโทรสายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เทศกาลฟุตบอลยูโรเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งมีประชาชนที่สนใจติดตามการถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่อง จนอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ล่าสุด มีข่าวหนุ่มวัย 26 ปี กลับจากทำงานแล้วดูการแข่งขันฟุตบอลต่อจนดึก และเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากการทำงานหนัก อดอาหารและอดนอน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจ และไม่อยากให้เกิดการเสียชีวิตซ้ำอีก จึงขอแนะนำให้ผู้ชื่นชอบกีฬาทุกคน ทั้งวัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน วัยสูงอายุ ขอให้ชมอย่างมีสติ อย่าให้กระทบกับสุขภาพและการเรียน การทำงาน จัดสรรเวลาการรับชมและการพักผ่อนให้เหมาะสม ใส่ใจสุขภาพตนเอง หากร่างกายไม่ไหว ขอให้เลือกชมคู่แข่งขันที่ชื่นชอบ หรืออาจใช้วิธีดูเทปการแข่งขันย้อนหลังแทน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำร่างกายให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ในส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ขอให้เคร่งครัดการรับประทานยาต่อเนื่อง ตรงเวลา ใช้ความระมัดระวังในการชม ไม่ตื่นเต้นจนเกินไป รวมทั้งผู้ที่ทำงานหนัก แม้จะอายุไม่มากหรือไม่มีโรคประจำตัว หรือไม่ทราบว่าตัวเองมีโรคประจำตัว หากอดนอนต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จนเจ็บป่วย หรือเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดหัวใจวายนั้น เกิดจากการมีหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่ง มีปัญหาเชื่อมโยงกันคืออวัยวะปลายทางขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่วนใหญ่การป่วยและเสียชีวิต มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน สาเหตุมาจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ โดยพฤติกรรมก่อโรค ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มากเกินพอดี ไม่สมดุล ทั้งอาหารรสหวาน มัน เค็ม ผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
************************** 12 มิถุนายน 2559
View 21
12/06/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ