รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำสื่อมวลชน พิสูจน์ตำบลปลอดลูกน้ำยุงลาย ที่ประชาชนและองค์กรท้องถิ่นเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา จนสามารถปลอดลูกน้ำยุงลาย เผยไข้เลือดออกปีนี้ระบาดรุนแรงกว่าปี 2549 ยอดผู้ป่วยสะสมในรอบ 8 เดือน พบเกือบ 4 หมื่นราย ตาย 42 ราย สั่งการทุกจังหวัดเข้มมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน กำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านและในชุมชน ทุก 7 วัน
วันนี้ (5 กันยายน 2550) ที่จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญเลิศ ลิ้มทองกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานมอบป้ายตำบลปลอดลูกน้ำยุงลาย และนำคณะสื่อมวลชนพิสูจน์ตำบลปลอดลูกน้ำยุงลาย ที่ตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ที่ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกประสบความสำเร็จ โดยใช้กลยุทธ์การมีส่วนร่วมของชุมชนและการสนับสนุนขององค์กรท้องถิ่น ทำให้ไม่มีผู้ป่วยติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
นายแพทย์มรกตกล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 25 สิงหาคม 2550 มีผู้สงสัยป่วย 38,316 ราย เสียชีวิต 42 ราย เพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 33 ซึ่งมีผู้ป่วย 28,762 ราย เสียชีวิต 36 ราย โดยภาคภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุด 13,439 ราย รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,431 ราย ภาคใต้พบผู้ป่วย 7,762 ราย และภาคเหนือ 5,684 ราย เมื่อเปรียบเทียบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน พบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยสูงสุด เท่ากับ 90.25 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ภาคกลาง 64.12
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไข้เลือดออก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อที่ระบาดมีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยพบสายพันธุ์ที่ 1 มากที่สุดร้อยละ 60 รองลงมาคือสายพันธุ์ที่ 4 ร้อยละ 18 ได้กำชับหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทั่วประเทศ ซึ่งมีกว่า 1,500 ทีม เร่งสอบสวนควบคุมโรค ให้ทุกจังหวัดรายงานผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยไข้เลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมสอบสวนยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกหรือไม่ทุกราย โดยให้ค้นหาแหล่งติดเชื้อให้ได้ว่า เป็นการติดเชื้อในพื้นที่หรือจากพื้นที่อื่น เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาด และหากพบผู้ป่วยเกิดขึ้นในหมู่บ้านเดียวกันหลังจากพบรายแรกประมาณ 10-14 วัน ให้สอบสวนโรคว่าเป็นการติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรายแรก หรือติดจากพื้นที่อื่น เพื่อประเมินผลการควบคุมโรคในพื้นที่นั้นๆ
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันโรคนี้จะต้องกำจัดต้นเหตุคือ ยุงลาย ซึ่งวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดก็คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในโรงเรียน บ้านและชุมชน ดูแลภาชนะภายในบ้าน เนื่องจากร้อยละ 85-90 ภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ แจกัน ขอให้ทุกบ้านเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือหาฝาปิดไม่ให้ยุงมาไข่ หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ถ้าเป็นภาชนะที่ใส่น้ำมาก เช่น อ่างบัว ให้หาปลาหางนกยูงมาปล่อย ส่วนขาตู้กับข้าว แจกัน ให้ใส่เกลือแกง หรือน้ำส้มสายชู 1 ช้อนชาครึ่ง ในส่วนของยุงตัวแก่ให้ใช้สเปรย์ฆ่ายุงลายที่ขายทั่วไป หรือใช้น้ำ 1 กระป๋องนม ผสมน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก 1 ช้อนชาครึ่ง เทใส่กระบอกฉีดน้ำรีดผ้าพ่นฆ่ายุง
ทางด้านนายแพทย์คำรณ ไชยศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีประชากร 936,883 คน ประกอบด้วย 11 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ได้เข้าร่วมโครงการท้าพิสูจน์ตำบลปลอดลูกน้ำยุงลาย ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่นจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษภัยของโรค และให้ความร่วมมือร่วมแก้ปัญหาการระบาดของโรค โดยผ่านการประเมินเป็นตำบลปลอดลูกน้ำยุงลายแล้ว 14 แห่ง และได้คัดเลือกเพื่อท้าพิสูจน์ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเวียงชัย อำเภอพยัคภูมิพิสัย ตำบลกุดไส้จ่อ อำเภอกันทรวิชัย ตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ
สำหรับ ตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ มี 15 หมู่บ้าน 904 หลังคาเรือน ประชากร 4,126 คน โรงเรียน 3 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 4 แห่ง วัด 10 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง โดยทางหมู่บ้านได้บูรณาการโครงการเข้ากับหมู่บ้านจัดการด้านสุขภาพ แบ่งเครือข่ายการดำเนินงานเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 3 หมู่บ้าน จัดการประกวดกลุ่มบ้าน ภายใต้กติกา ไม่มีลูกน้ำยุงลายให้ 20 คะแนน ไม่มีผู้ป่วย 20 คะแนน และหากพบลูกน้ำยุงลายปรับ 10 บาท มีทีมไล่ล่าลูกน้ำยุงลายและควบคุมยุงลาย หากเกิดโรคในหมู่บ้านต้องออกควบคุมโรคอย่างรวดเร็วภายใน 3 ชั่วโมง โดยได้รับงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเต็มที่ จากองค์การบริหารส่วนตำบล สนับสนุนทั้งเครื่องพ่นและสารเคมีกำจัดยุงลาย รวมทั้งเบี้ยเลี้ยงออกปฏิบัติงานให้อาสาสมัครสาธารณสุข ทำให้ไม่มีผู้ป่วยติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ทั้งที่ตำบลรอบข้างมีผู้ป่วย
สถานการณ์ไข้เลือดออกของจังหวัดขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 626 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 66.82 ต่อประชากรแสนคน ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
*************************** 5 กันยายน 2550
View 6
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ