“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 โดยมีแผนปฏิบัติการ 4 ระบบหลัก คือ ป้องกันโรคติดต่อ ตรวจจับภัยจากโรคติดต่อ ควบคุมโรคติดต่อและตอบสนองต่อปัญหา และระบบสนับสนุน เร่งตั้งคณะกรรมการฯระดับจังหวัด กทม. คณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกประเทศ และตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อ
วันนี้(22 มิถุนายน 2559)ที่ กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 รับทราบความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อด้วยระบบป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์และเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าจะกวาดล้าง กำจัด ควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญของประเทศด้วยระบบและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยมีแผนปฏิบัติการ 4 ระบบหลัก คือ ระบบป้องกันโรคติดต่อ(Prevent) ระบบตรวจจับภัยจากโรคติดต่อ (Detect) ระบบควบคุมโรคติดต่อและตอบสนองต่อปัญหา(Respond) และระบบสนับสนุนการดำเนินงานด้านโรคติดต่อ(Support) ทั้งนี้ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาดในพื้นที่จังหวัดและในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณต่อไปได้
ทางด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ สำหรับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. 2.แต่งตั้งคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก 3.ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ
4. ดำเนินการตามนโยบาย ระบบ และแนวทางปฏิบัติ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด และจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาด ในเขตพื้นที่ พิจารณาจากแผนปฏิบัติการฯ สอดคล้อง และตามลำดับความสำคัญที่เป็นปัญหาของพื้นที่โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ในช่วงฤดูฝนซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติโดยกรมควบคุมโรคจะสนับสนุนติดตาม สนับสนุนทางวิชาการและอื่นๆ ที่จำเป็น รวมทั้งติดตามประเมินผล มั่นใจว่าคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดและ กทม.จะช่วยให้งานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อสำเร็จ
มิถุนายน 5/1********************** 22 มิถุนายน 2559