กระทรวงสาธารณสุข นำยาเสพติดให้โทษของกลาง จากคลังยาเสพติดกว่า 5,136 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 10,961 ล้านบาท และกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวนกว่า 4,088 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 32 ล้านบาท เผาทำลายเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน 2559 เผยปีงบประมาณ 2559 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว 95,569 คน ในระบบสมัครใจที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  และกทม. 27,538 คน ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 25,129 คน ระบบบังคับบำบัด 52,677คน และระบบต้องโทษ 6,807คน

วันนี้(24 มิถุนายน 2559) ที่ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา  พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติด ให้โทษของกลาง ครั้งที่ 46 ประจำปี 2559 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี  โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา ทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยมีปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่จะเผาทำลาย จำนวนกว่า 5,136 กิโลกรัม จาก 231,100 คดี ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 4,240 กิโลกรัม(ประมาณ 47 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 9,423 ล้านบาท ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 422 กิโลกรัม มูลค่า ประมาณ 1,056 ล้านบาท เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 411 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 441 ล้านบาท โคคาอีน น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม (ประมาณ 15,457 เม็ด) มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท ฝิ่น น้ำหนักกว่า 38 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4 แสนบาท และอื่น ๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 10,961 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวนกว่า 4,088 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 32 ล้านบาทโดยของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลายที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น(Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอน ในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม

          ด้านศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ได้เน้นการดำเนินงานในเชิงคุณภาพ และการนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดในระบบสมัครใจเป็นอันดับแรก ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานการบำบัดรักษาทุกระบบ โดยในส่วนของการกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ ได้กำหนดให้มีการนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดจำนวน 220,000 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 69,700 คน ค่ายค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 55,300 คน บังคับบำบัด 77,500 คน ต้องโทษ 17,500 คน โดยข้อมูลปีงบประมาณ 2559 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 พฤษภาคม 2559 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯแล้ว 95,569 คน คิดเป็นร้อยละ 43.45 ในระบบสมัครใจที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกทม.27,538 คน ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 25,129 คน ระบบบังคับบำบัด 52,677 คน และระบบต้องโทษ 6,807คน

          ทั้งนี้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดกว่า 800 แห่ง พร้อมนำผู้เสพ/ผู้ติดยา เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานสากล เช่น ระบบแมตทริกซ์ (Matrix) ซึ่งให้การบำบัดได้ทั้งกาย จิต สังคม และให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ใช้เวลาในการบำบัด  1-4 เดือน ผู้บำบัดสามารถอยู่ในชุมชนได้ ประชาชนโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนปรึกษาปัญหายาเสพติด 1655

****************************** 24 มิถุนายน 2559



   
   


View 21    24/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ